เมื่อโลกหมุนเร็ว ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจที่ต้องเดินหน้าสร้างรายได้ หาลูกค้าใหม่ แต่การใส่ใจรักโลก สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่ไปอีกนาน ‘AIS’ และกลุ่มเซ็นทรัลคู่พันธมิตรตัวอย่างการสร้างบ้านเมืองให้เป็น Zero Waste 100% ร่วมศึกษาดูงานการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีที่หมู่บ้านคามิคัตสึประเทศญี่ปุ่น เมืองต้นแบบปลอดขยะระดับโลก หวังนำแนวคิดมาปรับใช้สร้างโมเดลจัดการขยะอย่างครบวงจร
AIS ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างโมเดลด้านการจัดการขยะทุกประเภทให้ถูกวิธี ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เกิดการจัดการขยะแบบ 100% เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรมที่เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากตัวเรา
ภายใต้พันธกิจนี้ AIS และกลุ่มเซ็นทรัลนำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ หมู่บ้านคามิคัตสึ (Kamikatsu) เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะชินโชกุ ประเทศญี่ปุ่น ดูการทำงานจริง ตลอดจนศึกษาแนวคิด Zero Waste และกระบวนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องจนสามารถแยกขยะมากถึง 45 ประเภท ผ่านหลักการพื้นฐานที่ทุกคนทำได้ โดยการลดขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) ด้วยความร่วมมือร่วมใจหมู่บ้านคามิคัตสึกลายเป็นเมืองต้นแบบปลอดขยะระดับโลก พร้อมต่อยอดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS นอกจากต้องการสร้างมาตรฐานของสินค้า บริการ นวัตกรรม และการดูแลลูกค้าอย่างเป็นเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังมีภารกิจในการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนประเทศสู่ Sustainable Nation โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมใน 2 แกนหลักคือ 1.ลดผลกระทบผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจ 2.ลดและรีไซเคิลของเสียจากการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัด E-Waste อย่างถูกวิธี
“การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลส่งผลให้เกิดขยะ E-Waste มากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก มูลค่าขยะ E-Waste ที่ถูกเผาทำลายมีมากถึง 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับมีการจัดเก็บอย่างถูกวิธีและรีไซเคิลได้เพียง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ปริมาณขยะที่สูญหายในระหว่างทางนั้นมีอยู่มหาศาลที่ยังไม่ถูกกำจัด ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหากกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง”
จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนภารกิจคนไทยไร้ E-waste ในปี 2562 เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดย AIS ได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2563 รณรงค์และเป็นช่องทางรับทิ้ง E-Waste ให้ประชาชนผ่านศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 37 สาขา รวมถึงร้าน Power Buy รวม 40 สาขาทั่วประเทศ และผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste Plus ที่เพิ่มเติมเข้ามา ทั้งยังร่วมมือกับ 190 องค์กรขับเคลื่อน HUB of e-waste ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะแห่งแรกของไทย ที่มีทั้งความรู้ เครือข่ายที่มาช่วยกันแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ การขยายจุดรับทิ้งให้ครอบคลุม การบริการด้านการขนส่ง และการรีไซเคิลสู่กระบวนการ Zero e-waste to landfill
ด้าน พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า การจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากตัวเราเอง ทำทุกวันและต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันทำจากทุกภาคส่วน จึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และ AIS ซึ่งเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการสานต่อจากโครงการการทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัล มุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านโครงการ “เซ็นทรัล ทำ-ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” โครงการเพื่อความยั่งยืนผ่าน 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนด้วยการ 1.ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย (Community & Social Contribution) 2.ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส อย่างเท่าเทียม (Inclusion) ด้านการศึกษา (Education)
3.พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Development) 4.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Circular Economy & Waste Management) 5.ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste Reduction) และ 6.ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลพิษและผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน(Climate Action) ทำให้มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร และขับเคลื่อนการลดการสร้างขยะให้เป็นศูนย์ผ่านแคมเปญ Journey to Zero เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 เพื่อสร้างคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติเป็นธุรกิจค้าปลีกแห่งแรกของไทยที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ต้นแบบในด้านการจัดการขยะทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การเดินหน้าภารกิจศึกษาแนวคิด และกระบวนการจัดการขยะในครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัท เห็นพ้องตรงกันว่าจะร่วมมือกันทำ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน เพราะมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากเห็นประเทศไทยมีโมเดลต้นแบบในการคัด แยก ทิ้งขยะได้อย่างถูกที่และถูกวิธี และยังเป็นการลดการฝังกลบขยะที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมาย พร้อมสร้างพฤติกรรมการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป
สำหรับ ‘คามิคัตสึ’ คือเมืองในจังหวัดโทคุชิมะที่ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนคนเพียง 1,401 คน (ตัวเลขวันที่ 1 ต.ค.2023)โดยมีสัดส่วนเป็นผู้สูงอายุ 52.25% มีพื้นที่ขนาด 109.63 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ป่าไม้ 88% และ 80% เป็นป่าปลูก) สูงจากระดับน้ำทะเล 100-700 เมตร เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องปลอดขยะและการจัดการขยะอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นต้นแบบการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน จนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ของคนที่รักสิ่งแวดล้อม
Zero waste หรือขยะเป็นศูนย์ หมายถึงการกำจัดของเสียและขยะ แต่สำหรับเมืองคามิคัตสึไม่เพียงหมายถึงการจัดการขยะเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวิธีคิดที่จะไม่สร้างขยะตั้งแต่เริ่มแรก โดยปฏิญญาขยะเป็นศูนย์ของเมืองคามิคัตสึคือ 17 ปีหลังจากออกปฏิญญา Zero Wasteในปี 2003 คนในชุมชนทุกคนได้ร่วมกันลดขยะในเมืองคามิคัตสึ และได้พิสูจน์ตนเองด้วยสถิติรีไซเคิลขยะได้ในอัตรามากกว่า 80%
เมืองคามิคัตสึดำเนินโครงการริเริ่มการรีไซเคิลอย่างทั่วถึงเพื่อบรรลุสังคมขยะเป็นศูนย์ โดยการสื่อสารปรัชญาและความคิดขยะเป็นศูนย์ มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มเปอร์เซ็นต์คนที่มีความคิดไปในแนวเดียวกันในสังคม
ความท้าทายในการร่วมกันกำจัดขยะของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ได้ดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก และได้ปูทางเมืองแห่งนี้ไปสู่สังคมที่ยั่งยืน โดยเมืองคามิคัตสึมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้มีความงามทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข และในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องขยะเป็นศูนย์ เมืองคามิคัตสึได้ประกาศนโยบายขยะเป็นศูนย์อีกครั้ง ผ่านเป้าหมายหลัก “การคิดถึงอนาคตของสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลาน ภายใต้ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล และส่งเสริมผู้อื่นให้ร่วมลงมือ” โดยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030
ศูนย์ Zero Waste ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2020 เป็นศูนย์ที่ชาวบ้านจะนำขยะมาคัดแยก ศูนย์แห่งนี้มีการตกแต่งพื้นที่สำนักงานและที่พักเพื่อใช้ร่วมกันใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างคนในชุมชนที่มีความปรารถนาจะเรียนรู้เกี่ยวกับขยะเป็นศูนย์ด้วยกัน ภายใต้การดูแลของซาโตชิ โนโนยามะ (Satoshi NonoYama) CEO บริษัท Pangaea@All เป็นบริษัทที่รับผิดชอบส่วนของ Academy การศึกษาดูงานเรื่อง Zero waste
สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า การได้มาเห็นของจริงที่เมืองคามิคัตสึ ทำให้เห็นได้ว่าเมืองเริ่มจากเจอปัญหาขยะที่มีอยู่จำนวนมากและนำไปสู่แนวคิดหาทางจัดการขยะเหล่านั้นโดยเริ่มจากการสร้างระบบขึ้นก่อนเหมือนที่ AIS เจอเช่นกัน
“เราพบว่าคนมีหลายประเภท บางคนรัก Green รักโลก ไม่ต้องเตือนฉันบ่อยๆ ฉันพร้อมที่จะปฏิบัติ ในขณะที่คนอีกกลุ่มจะชอบตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่อย่างนี้นะ ไม่อย่างนั้นล่ะ แต่ไม่ทำอะไรเลยส่วนอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มสร้างภาพว่าตัวเองรักโลกนะแต่ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าไม่เห็นมีจุดแยกขยะให้เลย ก็เลยไม่ทำอะไร บอกกับตัวเองว่าเป็นคนเพียงพอไม่มีของเหลือทิ้งเป็นภาระให้โลกใบนี้ก็พอ”
คามิคัตสึ เป็นเมืองที่สร้างระบบ ระเบียบการจัดการขยะแบบ end to end สร้างผู้นำเพื่อให้เกิดการทำตามและเมื่อเมืองทำสำเร็จแล้วก็เกิดการบอกต่อไปยังเมืองอื่นๆ ให้เกิดการทำตาม ให้คนที่มีแนวคิด มีปณิธานเดียวกันทำตาม
ในแง่ AIS สามารถนำแพลตฟอร์มลักษณะนี้ไปปรับใช้ได้อย่างแคมเปญ E-Waste ของ AIS ไม่ใช่แค่สร้างการตระหนักรู้ให้คนไทยรับรู้รับทราบว่าต้องเอาขยะมือถือมาทิ้งอย่างถูกต้อง ถูกวิธีเท่านั้น โดยที่ AIS สร้างจุด Drop Point ให้สามารถเอาขยะมาทิ้งได้ ซึ่งช่วงแรกมีจุดให้ทิ้งน้อยแต่ต่อมาก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะนอกจากกลุ่มเซ็นทรัลแล้ว ปัจจุบัน AIS มีพาร์ตเนอร์ร่วมแนวคิดเดียวกันนี้กว่า 190 ราย และจะขยายต่อไปเรื่อยๆ
ทางด้าน อัจฉรา วิสุทธิวงศ์รัตน์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรกลุ่มเซ็นทรัลกล่าวชื่นชมในแง่ความตั้งใจของหมู่บ้านคามิคัตสึ ที่มีโครงการนี้มากว่า 20 ปีแล้วว่าการแยกขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น ทุกคนเริ่มได้ที่ตัวเรา ที่บ้าน จนกลายเป็นต้นแบบให้คนทั่วโลกมาดูงานที่โครงการแห่งนี้ได้
เมื่อดูจากเมืองคามิคัตสึที่ได้รับคำชมจากทั่วโลกว่ามีการจัดการขยะอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ความร่วมมือของชุมชนกับภาครัฐทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ได้ โดยนำมาปรับใช้ในส่วนของเซ็นทรัลที่กำลังทำศูนย์การเรียนรู้ในลักษณะนี้ ที่ ‘ศูนย์จริงใจ’ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดแยกขยะ 15 ประเภทให้ลูกค้า โดยมีพนักงานคอยสอนการแยกขยะ อย่างอาหารจะมีเครื่องกำจัดและเปลี่ยนให้เป็นปุ๋ยออแกนิก สามารถนำไปปลูกพืชผักได้
ปัจจุบัน กำลังรณรงค์ให้คนเชียงใหม่นำขยะอาหารมาทิ้งเพื่อผลิตเป็นปุ๋ย หรือก๊าซชีวภาพ ส่วนขยะอื่นๆ อย่างพลาสติกร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ให้ผู้ที่นำขยะมาทิ้งแล้วได้เงิน เหมือนเอาขยะมาขาย ซึ่งขยะนี้จะถูกนำไปแยก โดยขยะที่นำมาทิ้งต้องล้างให้สะอาดก่อน หลังจากนั้นขยะจะถูกนำไปจัดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
“สิ่งที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้คือกระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน มีการบริหารจัดการที่เข้าใจง่าย สามารถสร้างการรับรู้ให้คนเอาขยะมาทิ้งอย่างถูกต้องที่นี่ โดยเฉพาะการสร้างวินัยให้คนมาทิ้งขยะอย่างถูกวิธีกันมากขึ้นจนเป็นเมืองปลอดขยะในที่สุด”
ที่มา:https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9660000109181
No Comments