กรมสุขภาพจิตจัดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 ณ โรงพยาบาลศรีธัญญา วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข ร่วมกับเครือข่ายกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ภายใต้โครงการบ้านเปี่ยมพลัง พร้อมส่งเสริมการใช้วรรณกรรมโอสถ ร่วมกับ สสส. เพื่อเติมพลังใจให้พร้อมก้าวสู่วันพรุ่งนี้ที่เปี่ยมสุข
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การอ่านหนังสือเหมือนเป็นการจัดระเบียบความคิดของตนเอง ซึ่งการอ่านหนังสืออย่างน้อย 6 นาที สามารถคลายเครียดได้ และการอ่านให้เกิดคุณค่าจะต้องอ่านให้ครบทุกองค์ประกอบของหนังสือ ซึ่ง “การอ่านหนังสือให้รู้แล้วไม่เข้าใจ เข้าใจแต่ไม่ปฏิบัติ เท่ากับไม่รู้” โดยแนวคิดหลักของการจัดงานสัปดาห์สุขภาพจิต คือ การส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีขึ้น และการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต กอปรกับกรมสุขภาพจิตมีภารกิจหลัก คือ การดูแลระบบบริการสุขภาพจิตของประเทศไทย พัฒนางานสุขภาพจิตให้ก้าวหน้า สู่การเป็น Mental Health 4.0 และประชาชนรวมถึงบุคลากรมีสุขภาพจิตดี ปัญญาดี มีความสุข ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่กรมสุขภาพจิตขับเคลื่อนเพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าวคือ การบูรณาการงานสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่แบ่งแยกคนป่วยหรือคนไม่ป่วย
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากแนวคิดการบูรณาการงานสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยในเขตสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ พัฒนาระบบการสื่อสารสนับสนุนในประเด็นทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต จุดประเด็นสาธารณะด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพจิต ทั้งนี้การจัดกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตที่เน้นเนื้อหา “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” ครั้งนี้ ได้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลศรีธัญญาและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อมุ่งหวังให้เป็นเวทีในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูจิตใจผ่านการบำบัดรักษาด้วยวรรณกรรม ผ่าน “วรรณกรรมโอสถ” และการสนับสนุนบอร์ดเกม เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ ส่งเสริมทักษะให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง สนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชและผู้ไร้ที่พึ่งในการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่อยู่ในโครงการบ้านเปี่ยมพลัง สามารถดูแลตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า นอกจากมีการเสวนาในประเด็น “จากวันทุกข์ที่ผ่านพ้น สู่วันที่ฟื้นคืนใจ” และ “กว่าจะมี…ภูมิคุ้มใจในวันทุกข์” เพื่อการเยียวยาสังคมในมิติต่าง ๆ กิจกรรมวันนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สะท้อนให้เห็นความร่วมมือในหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. คณะทำงานโครงการอ่านยาใจ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา และบริษัทการีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งยังขยายขอบเขตของการฟื้นฟูสภาพจิตใจในสังคมและผู้มีประสบการณ์เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ให้ได้รับบริการสุขภาพจิตที่หลากหลาย มีคุณภาพ โดยกรมสุขภาพจิตจะนำนิทานภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย ได้แก่ “ตุ๊กตาของลูก” และ “หางตุ้ม” และ “หูตั้ง” ไปใช้เยียวยาครอบครัวและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภูด้วย กรมสุขภาพจิตขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตและให้โอกาสกับผู้มีประสบการณ์เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โดยมาช่วยกันวัดใจ เติมพลัง สร้างสังคมมีสุขร่วมกัน
- แนะวัยรุ่นมองโลกแง่บวก ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอยู่ในการดำเนินชีวิตของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงอายุที่อารมณ์อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าที่แวดล้อมรอบด้านได้ง่าย ทำให้อาจได้รับผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ ซึ่งจากข้อมูลการตรวจคัดกรองวัดสุขภาพใจด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โปรแกรม Mental Health Check-In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 พฤศจิกายน 2565 พบว่า ภาพรวมประชาชนไทยกลุ่มอายุ 20-29 ปี เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้าถึงร้อยละ 16.48 ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหลายสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การเร่งฟื้นฟูให้ประชาชนมีสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ดำเนินชีวิตต่อไปได้ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข
“นอกจากปัจจัยเรื่องเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคมที่รวดเร็วก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ จึงต้องรู้จักพัฒนาจิตใจตนเองให้มีความพร้อมอยู่เสมอ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อยู่กับปัจจุบัน มองโลกในแง่ดี รู้จักคิดบวก และช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะช่วยได้ ซึ่งหากพัฒนาได้ตามนี้เราก็จะมีความสุข” นายอนุทินกล่าว
กรมสุขภาพจิตได้ลงนามบันทึกข้อตกลงจัดโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจก้าวสู่คนไทยคุณภาพกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมทันท่วงที โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2564 นักศึกษาที่ประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองผ่าน MHCI พบว่า มีอัตราเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 11.01 ได้ดูแลให้คำปรึกษาช่วยเหลือเบื้องต้น โทรศัพท์ติดตามในรายที่มีความเสี่ยงสูง โดยรายที่เสี่ยงสูงมากจะส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลคู่เครือข่ายที่มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และพยาบาลจิตเวชทราบ เพื่อติดตามให้การช่วยเหลือ ดำเนินการแล้วกว่า 17 ราย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมเติมพลังจิตใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจให้แก่นักศึกษาและอาจารย์ รวมถึงพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ ให้มีทักษะการฟัง ให้คำปรึกษาช่วยเหลือนักศึกษาเบื้องต้น จำนวนกว่า 50 คน
แหล่งที่มา:workpointtoday
No Comments