• 12 September 2024

“สถานการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมโลก และการเกิดโรคระบาดต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งสิ้น”

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งภาวะโลกร้อน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มลพิษต่างๆ ไทยต้องรับมือเน้นใช้หลัก 2P-2R เพื่อสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีและช่วยลดกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของสภาพแวดล้อมและระบบภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉิน สาธารณภัย และภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน

โดยไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งจากภัยความร้อน อุทกภัย และภัยแล้ง โดยเฉพาะภัยความร้อนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น พบว่า ในปี 2566 ในช่วงเดือนเมษายน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงสุดในประเทศไทย เกิดภาวะเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ทั้งภาวะลมแดด และร่างกายขาดน้ำจำนวนมาก

นอกจากนี้ พบสถานการณ์วิกฤตจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานในหลายจังหวัดและมีระยะเวลาเกิดมลพิษที่ยาวนานมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

ขณะที่ ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องคือปัญหาขยะ ทั้งขยะทั่วไปจากชุมชนที่มาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนจากโรคโควิด-19 ที่ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณขยะอันตรายที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากกระแสการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทดแทนของเดิมและเริ่มนำมาใช้ในครัวเรือนและที่ทำงาน เกิดเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณขยะอันตรายที่ต้องถูกส่งไปกำจัด เป็นภาระของการให้บริการของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น

กรมอนามัยได้เตรียมความพร้อมรับมือขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลัก 2P2R ในการจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับกรณีภัยพิบัติ/สาธารณภัย ประกอบด้วย

1. P : Prevention and Mitigation การป้องกันและลดผลกระทบ โดยเพิ่มระบบป้องกันและลดความเสี่ยงภัยสุขภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เช่น การสร้างห้องปลอดฝุ่นในครัวเรือนหรือชุมชน การยกพื้นหรือใช้วัสดุป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

2. P : Preparedness การเตรียมความพร้อม ด้วยการเตรียมกำลังคนที่มีความรู้ ศักยภาพในการสนับสนุนการจัดสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในช่วงเกิดภัยพิบัติ

3. R : Response การตอบโต้หรือเผชิญเหตุ สนับสนุนทีมเจ้าหน้าที่ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเฝ้าระวังความเสี่ยง การปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีในสิ่งแวดล้อม แหล่งอาหาร แหล่งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งในชุมชนที่ประสบภัย และภายในศูนย์อพยพจากภัยพิบัติ

4. R : Recovery การฟื้นฟูหลังเกิด เน้นทบทวน และปรับปรุงระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เสียไปจากภัยพิบัติ เช่น ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเฝ้าระวังเฝ้าระวัง และจัดสภาพแวดล้อมสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้กลับสู่ภาวะปกติไม่มีความเสี่ยงสุขภาพประชาชน อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

แหล่งที่มา:workpointtoday

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *