• 22 December 2024

วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุแบบไม่ตั้งใจกับรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ซึ่งมี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) เป็นเจ้าของโครงการคือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ( MRT Pink Line )หรือน้องนมเย็น และ รถไฟฟ้าสายสีม่วง

รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู (MRT Pink Line) หรือที่ชาวโซเชียลเรียกกันว่า “น้องนมเย็น” ซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงแคราย–มีนบุรี ทั้งหมด 30 สถานี รวมระยะทางตลอดเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 34.5 กิโลเมตร รวมมูลค่ากว่า 53,490 ล้านบาท ได้เปิดทดลองใช้งานตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ขึ้นทดสอบ และตามแผนจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในช่วงทดลองให้บริการ ทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่วันที่ 25-30 ธันวาคม 2566 โดยมีเวลาเปิด–ปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-00.00 น. ในทุก 10 นาที แต่ถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วน จะบริการทุก 5 นาที

แต่รถไฟฟ้าสายสีชมพูยังไม่ทันเปิดให้ทดลองบริการ ทั้ง 30 สถานี เมื่อเวลา 04.45 น. วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้เกิดเหตุการณ์รางเหล็กจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) ขนาดกว้างประมาณ 4 นิ้ว หนาประมาณ 2 นิ้วของรถไฟฟ้า เป็นลักษณะเส้นยาว ซึ่งหลุดจากยึดบนคานคอนกรีตสำหรับตัวรถไฟฟ้าใช้วิ่ง ได้ตกลงมาใส่รถยนต์ที่จอดอยู่หน้าตลาดกรมชลประทาน หรือบริเวณ สถานีสามัคคี (PK04)พังเสียหาย

ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (อยู่ระหว่างทดลองการเดินรถ)ได้ออกมาชี้แจงว่ากรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้า(Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทาน ได้รับความเสียหาย สาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้นคาดว่าเป็นผลจากการดึง sheet pile ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณใกล้เคียงออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถไปกระแทกส่งผลให้เกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนที่หลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้า ขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่างทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว

เบื้องต้นพบว่ามีรถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถ จึงมีความจำเป็นต้องปิดให้บริการ ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) เป็นการชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยจะมีขบวนรถให้บริการ จากสถานีแจ้งวัฒนะ–ปากเกร็ด 28 ถึงสถานีมีนบุรี ผู้โดยสารที่จะเดินทางระหว่าง สถานีแจ้งวัฒนะ–ปากเกร็ด 28  และสถานีมีนบุรี กรุณาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ และขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทุก 10 นาที

โดยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานทุกฝ่าย ได้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุทันที และจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ กราบขออภัยในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กันพื้นที่ด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุพร้อมตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู บริเวณถนนติวานนท์ ว่า จากการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์นบางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และประชาชน ตนจึงได้สั่งการให้ปิดการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเพื่อตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด

สำหรับในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 จะเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี คือ ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ(PK08) – สถานีมีนบุรี (PK30) ขณะที่ ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานีนั้น ขร.จะต้องดำเนินการตรวจสอบ และประเมินเบื้องต้น 7 วัน จากนั้นจะตรวจสอบให้มั่นใจในด้านความปลอดภัย ก่อนที่พิจารณาเปิดให้บริการอีกครั้งต่อไป ทั้งนี้ได้กำชับว่า หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก จะมีบทลงโทษครอบคลุมตามสัญญา ด้วยเงื่อนไขในการเดินรถต่อไป

โดยสาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้น ระบุว่า รถตรวจรางพบวัสดุแปลกปลอมซึ่ง วัสดุแปลกปลอมดังกล่าว อาจจะเกิดจากรถเครนที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่ เพื่อคืนผิวจราจรแล้วไปขัดบริเวณตัวล้อด้านข้าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีรถยนต์บริเวณดังกล่าวเสียหาย 3 คัน และสายไฟฟ้าล้ม โดยNBM จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีรถตรวจทางวิ่งตรวจสอบในช่วงเวลา 04.00 น. ก่อนให้เปิดบริการทุกวัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัยในการให้บริการและการเดินทางอย่างแน่นอน

ส่วนรถไฟฟ้าอีก 1 สายคือ สถานีวงเวียนใหญ่ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วงใต้ หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะเป็นโครงการในความรับผิดชอบของ รฟม. เช่นกัน โดยในช่วงเวลาประมาณ 8.00 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เช่นเดียวกัน ได้เกิดอุบัติเหตุเหล็กเส้นหล่นร่วงขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างบริเวณสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งอัปเดตเมื่อเดือนตุลาคม 2566 มีความก้าวหน้างานโยธาแล้ว 18.68% โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร(กม.) เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร 7 สถานี ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2570

โดยสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงว่า ขณะเกิดอุบัติเหตุนั้น บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 4 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) อยู่ระหว่างดำเนินงานยกเหล็กเส้น D -Wall ของสถานีวงเวียนใหญ่ เเละได้เกิดร่วงหล่นลงมา เป็นเหตุให้คนงานชายได้รับบาดเจ็บ 1 คน จึงได้รีบนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงในทันที ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รฟม. ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างยุติการสร้างไปก่อน และสั่งการให้รีบหาข้อผิดพลาดและแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบรชนี้ในครั้งต่อไปอีก พร้อมทั้งเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอแสดงความเสียใจแก่ผู้เสียชีวิตด้วย

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังลงพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายสีม่วงใต้) ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สถานีวงเวียนใหญ่ ว่า ตามที่เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม2566 ได้เกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินงานยกเหล็กเส้นกำแพงกันดิน (D-Wall) ร่วงหล่นขณะปฏิบัติงาน ในพื้นที่ก่อสร้าง โดยมีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 4 (จากทั้งหมด 6 สัญญา) ซึ่งเป็นงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง วงเงิน14,982,000,000.00 บาท มีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างแล้ว 13.82% แต่อุบัติเหตุครั้งนี้ได้ส่งผลให้คนงานชายเสียชีวิต 1 ราย

ทั้งนี้ ตนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จากการรายงานของรฟม. เบื้องต้นระบุว่า เหล็กเส้นกำแพงกันดิน (D-Wall) ร่วงหล่น เนื่องจากไม่ได้มัดรอบสลิงเบลท์ แต่ใช้วิธีเกี่ยวโครงเหล็ก และเมื่อวางเหล็กเส้นกำแพงกันดินบนพื้น ทำให้กระแทกทำให้โครงเหล็กกระจายออกจากกัน และสะบัดเข้าพื้นที่ปลอดภัยไปโดนศีรษะของคนงานชาย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยผู้รับจ้างก่อสร้างจะรับดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจ่ายค่าเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตในเบื้องต้นประมาณ 1.6 ล้านบาท

โดยอุบัติเหตุดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ปิด จึงไม่กระทบต่อประชาชน และผู้สัญจรบนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินแต่อย่างใด และได้กำชับให้ รฟม.วางแนวทางป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกโดยให้ตรวจเช็กโครงเหล็กให้หนาแน่นในทุกจุดต่อ พร้อมทั้งเสริมรอยเชื่อมให้แน่นหนา และให้รัดรอบเหล็กทุกครั้งก่อนนำเข้าพื้นที่ก่อสร้าง

สำหรับบทลงโทษต่อผู้รับจ้างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้น รฟม. ได้สั่งหยุดการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อดำเนินการสืบสวน และทบทวนมาตรการ ด้านการทำงาน และด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ หากมีการประเมินผลงานในครั้งต่อไป อาจโดนปรับอันดับ (เรตติ้ง) คุณภาพของผู้รับจ้าง ซึ่งอาจมีผลในการคัดเลือกผู้รับจ้างในโอกาสต่อไป

แม้ว่าทางบริษัทที่รับผิดชอบด้านงานก่อสร้าง หน่วยงาน องค์กรที่เป็นเจ้าของโครงการ และรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายจะออกมารับผิดชอบ และทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกก็ตาม แต่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่จะต้องใช้บริการ หรือประชาชนที่ต้องขับรถสัญจรไปมาอยู่บริเวณพื้นที่ถนน ได้มากน้อยเพียงใดเพราะในปี 2566 นี้ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ ที่เป็นโครงข่ายการคมนาคมและอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ได้เกิดอุบัติเหตุการร่วงหล่นของวัสดุก่อสร้างลงมาทับรถยนต์หรือคนงานก่อสร้าง ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต กันเป็นจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) มีรูปแบบเป็นการก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ที่ปี 2566 นี้เกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนหลายครั้งมาก ส่งผลให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการหรือบทลงโทษที่หนัก เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายขึ้นอีกต่อไป

ที่มา prop2morrow.com

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *