รู้จัก “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” ที่ส่งผลให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กระทบในวงกว้าง ทั้งสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ วิกฤติน้ำแล้ง ความมั่นคงทางอาหาร รวมไปถึงสุขภาพ
เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “ภาวะโลกร้อน” หรืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก (Green house effect) แต่ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตอร์เรสเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาประกาศว่า
“ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุคภาวะโลกเดือด”
แล้ว “ภาวะโลกเดือด” ที่ UN และนักวิชาการทั่วโลกออกมาเตือนคืออะไร ไปทำความรู้จักภาวะโลกเดือด สัญญาณภัยพิบัติอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก และการรับมือที่ทุกคนก็สามารถช่วยได้
ภาวะโลกเดือด คืออะไร?
ภาวะโลกเดือด คือภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หรือมนุษย์กำลังเข้าสู่ช่วงของยุคที่ร้อนขึ้นจนเป็นสถิติและจะเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งแปลว่าโลกกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเดือนกรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ “ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์” ในรอบ 120,000 ปี ขณะที่องค์กร NASA ที่ติดตามตรวจวัดอุณหภูมิจากสถานีตรวจอากาศนับหมื่นแห่ง ก็พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2566 ถือเป็นเดือนที่ “ซีกโลกเหนือ” ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี และน้ำแข็งก็จะละลายไวขึ้น 6 – 7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน
ภาวะโลกเดือดสะท้อนผ่านความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ไล่ตั้งแต่เรื่องความผันผวนทางสภาพอากาศ ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม น้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้งจากเอลนิโญ ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่นำไปสู่ปัญหาไฟป่า และการเสียชีวิตของผู้คนหลายร้อยคนทั่วโลกจากโรคฮีทสโตรก
สำหรับประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลก็พบว่าในปี 2565 มีแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส โดยเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดตากมีอุณหภูมิสูงถึง 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่อันตรายมาก และคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของโลกเดือด
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงประเด็น “จากรหัสแดงโลกร้อนสู่โลกเดือดอนาคตที่เราต้องเลือก” ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ปี 2565 มีอุณหภูมิสูงกว่าอดีต 1,000 – 10,000 ปี มาจาก 4 ปัจจัยหลัก ดังต่อไป
- การกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส
- ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.2 – 0.3 องศาเซลเซียส
- ช่วงเวลาการปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.05 องศาเซลเซียส
- การระเบิดของภูเขาไฟ Tonga-Hunga ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.035 องศาเซลเซียส
การกระทำของมนุษย์อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานจากฟอสซิล อุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ต่าง ๆ การตัดไม้ทำลายป่า การทำปศุสัตว์ การขนส่ง การคมนาคม และอีกมากมายหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์
ทางรอดภาวะโลกเดือด
ภาวะโลกเดือดย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางรับมือหรือแก้ปัญหา แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมมีส่วนสำคัญในการจัดการและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งในแต่ละประเทศก็ได้ออกกฎหมายและข้อตกลงมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ก็มีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ปัญหานี้
ในขณะที่รัฐบาลต้องยกให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญ ประชาชนทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือดได้เช่นกัน เริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และตระหนักรู้ถึงปัญหาทางธรรมชาติ ที่ไม่เริ่มต้นแก้ไขตั้งแต่วันนี้ เราอาจจะไม่มีโลกใบนี้ให้ลูกหลานในอนาคตได้อยู่กันอีกต่อไป
ที่มา: sanook.com
No Comments