ภาวะซึมเศร้าของเด็กเป็น “สุขภาพจิต” ของเด็กและวัยรุ่นนั้นยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร แม้สถานการณ์ความเปราะบางทางสุขภาพจิตในประเทศไทยจะน่ากังวลขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย 721,155 คน ในปี 2564 โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่า เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายและมีภาวะซึมเศร้ามากที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธุ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต อาจารย์สาขาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาฯ อธิบายว่า มนุษย์มีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่อาการเศร้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับการรับมือและฟื้นฟูอาการเศร้าของแต่ละคน ในขณะที่บางคนสามารถกลับสู่อารมณ์ปกติได้เมื่อหายเศร้า แต่หลายคนกลับเศร้าหนักขึ้น จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการ “ใส่ใจ” เพราะการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมีสาเหตุ “สำคัญ” มาจากภาวะซึมเศร้า แม้ว่าการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นไม่ได้มีสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ หรือมีความเปราะบางทางอารมณ์สูง รวมถึงมีความยากลำบากอย่างมากในการจัดการอารมณ์ของตนเอง อาจนำไปสู่การหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะเมื่อวัยรุ่นที่มีลักษณะข้างต้นเจอเหตุการณ์กระตุ้น เช่น การถูกกลั่นแกล้ง จะยิ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าของเยาวชนไทยนั้น ได้แก่
- ความใกล้ชิดกับความสูญเสีย จากงานวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาพยาบาล โดยนฤมล สมรรคเสวี และโสภี แสงอ่อน พบว่า “นักศึกษาคณะพยาบาล” เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่านักศึกษาคณะอื่น เพราะต้องพบเจอกับการเจ็บปวดและการตายของผู้อื่นเป็นประจำ ดังนั้นกลุ่มเพื่อนและคนใกล้ชิดที่เผชิญกับความสูญเสียเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า
- เนื้อหาของข่าวสาร การนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเองซ้ำๆ ย้ำๆ อาจทำให้เกิด Copy Cat หรือพฤติกรรมเลียนแบบได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ “มีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว” เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น (trigger) ก็อาจแก้ปัญหาผิดวิธีด้วยการเลียนแบบเรื่องราวของผู้ที่เป็นข่าว
- ระบบการศึกษา การเรียนที่เน้นผลการเรียนและแข่งขันมากจนเกินไป ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่มาจากการเรียน เด็กที่เรียนเก่งมาตลอด อาจ “รับไม่ได้” เมื่อสอบตก หรือเรียนไม่รู้เรื่องจนมีภาวะซึมเศร้า รวมถึงเด็กที่เรียนไม่เก่งผิดหวังมาตลอด ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุด
- วิถีชีวิต เด็กติดจอ หรือที่เรียกว่า “Screenager” ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ นอนดึกตื่นเช้าจนพักผ่อนน้อย ทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า จากงานศึกษาทดลองของมหาวิทยาลัย Pittsburgh ด้วยการวัดคลื่นสมองของเด็กอายุ 5-15 ปี จำนวน 35 คน พบว่า เด็กที่พักผ่อนน้อยมีการรับรู้ความพึงพอใจน้อยลง
การป้องการการเกิดภาวะซึมเศร้าของเด็กและเยาวชน
จากปัจจัยทาง “สังคม” ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากเป็นปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นภาวะซึมเศร้าไม่ใช่แค่เรื่อง “ส่วนตัว” ของเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน พวกเราควรมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน เช่น
- พ่อแม่และคนในครอบครัวใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในการดูแล พูดคุย และรับฟังลูกหลาน
- สร้างบรรยากาศในการเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยและได้รับการยอมรับ
- ต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ด้วยการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่นักเรียนและครู
- ฝึกเด็กเรียนเก่งให้ได้เจอ และมีความพร้อมที่จะจัดการกับความล้มเหลว
- ฝึกเด็กเรียนอ่อนให้มีความมั่นใจ และเห็นคุณค่าในตนเองด้วยการ Multiple Intelligences
- ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์สังคม แทนการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายซ้ำๆ
จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ดังนั้นทุกคนในสังคม ทั้งเด็ก เยาวชน พ่อแม่ คนในครอบครัว เพื่อน ครู และสังคมในภาพรวม ไม่ควรมองว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นเพียงแค่เรื่องของเด็กและวัยรุ่น ตัว “พวกเขา” เองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “เรา” ที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการ “ลด” ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และ “เพิ่ม” ภูมิคุ้มกันภาวะซึมเศร้า เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีแก่เด็กและวัยรุ่นในการดำเนินชีวิตต่อไป
ที่มา สุขภาพคนไทย
No Comments