• 24 November 2024

ศาลรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้ “พิธา-พรรคก้าวไกล” ขยายเวลายื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง คดีล้มล้างการปกครอง และคดีหุ้นไอทีวี พร้อมนัดพิจารณา-ไต่สวน 20 ธ.ค. 66

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ผลการพิจารณา หลังประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ 3 เรื่อง โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 2 เรื่อง คือ กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

คดีอยู่ในระหว่างศาลรัฐธรรมนูญให้พยานบุคคลของผู้ถูกร้องทั้งสอง และพยานผู้เชี่ยวชาญจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ซึ่งพยานบุคคลของผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ขอขยายระยะเวลายื่นบันทึกถ้อยคำข้อเท็จจริงหรือความเห็นออกไปอีก 10 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว อนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 และกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น.

ขณะที่อีกเรื่อง เป็นกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี นายพิธา (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ต่อมาผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล และพยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2566

ผลการพิจารณาเป็นดังนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตตามที่ผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลาจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าโดยให้จัดส่งภายในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นเพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน จากนั้นอภิปรายเตรียมการไต่สวนในวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2566

ในช่วงท้าย สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ด้วยว่า การไต่สวนทั้ง 2 เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้าร่วมรับฟังการไต่สวน.

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *