• 24 November 2024

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า Office Syndrome หรือ อาการป่วยที่เกิดจากการทำงานออฟฟิศ ด้วยพฤติกรรมเคยชิน ทั้งจากลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ และโครงสร้างของร่างกายเป็นประจำ และการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome ได้เช่นกัน

Computer Vision Syndrome (CVS) เป็นอาการป่วยที่เกิดจากการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รวมถึงแท็บเล็ต เป็นเวลานานๆ เป็นเวลานาน ซึ่งโดยเฉลี่ย จะเกิดกับ 90% ของผู้ที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นประจำเลยล่ะค่ะ
อาการของ Computer Vision Syndrome รวมถึงอาการเคืองตา ตามัว แพ้แสง ไปจนกระทั่งอาการปวดศีรษะ ปวดคอ และหลัง ที่สำคัญ หลายๆ ครั้ง เราไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการใช้เวลากับหน้าจอมากจนเกินไปโดยไม่ได้ให้สายตาได้พัก และทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขที่ตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบัน การไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สิ่งสำคัญคงจะเป็นการป้องกันอาการป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการใช้สายตาในระดับที่เหมาะสม และให้สายตาได้พักเป็นระยะๆ ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อก มาแนะ 6 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกัน Computer Vision Syndrome

1.ปรับตำแหน่ง ระยะห่าง และมุมการมองจอให้เหมาะสม หน้าจอ ควรจะอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาของเราประมาณ 10-15 ซม. เพื่อให้เราสามารถก้มศีรษะลงเล็กน้อย และ เว้นระยะห่างระหว่างหน้าจอกับตาของเราให้เหมาะสม ระยะห่างที่เหมาะสมที่สุด คือประมาณ 50-60 ซม. ค่ะ

2.ปรับแสงสว่างโดยรอบให้เหมาะสม และพยายามลดแสงสะท้อนจากหน้าจอ แสงสว่างที่มากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของดวงตา ขณะที่มีการใช้งานกับจอคอมพิวเตอร์ เราสามารถปรับแสงสว่างให้ลดลงได้ โดยปริมาณแสงที่เหมาะสมคือความสว่างเพียงครึ่งหนึ่งของแสงสว่างภายในห้องปกติ ซึ่งเราสามารถลดปริมาณของแสงได้ด้วยการปิดม่าน หรือดับไฟบางดวงในห้องทำงานลงบ้าง นอกจากนั้น เพื่อช่วยลดแสงสะท้อนจากหน้าจอในกรณีที่แสงมาจากด้านหลังผู้ใช้ และป้องกันแสงจ้าจากหลังจอ กรณีที่แสงมาจากด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ เราควรจัดวางหน้าจอโดยให้แสงหลักมาจากด้านข้างของผู้ใช้งานค่ะ

3.กระพริบตาบ่อยๆ และให้สายตาได้พัก สาเหตุของอาการตาแห้ง อาจมีสาเหตุมาจากการเพ่งสายตาเป็นเวลานานๆ เพราะฉะนั้น ในระหว่างการใช้งานกับจอคอมพิวเตอร์ อย่าลืมกระพริบตาบ่อย หรือในทุกๆ ระยะ 20 นาที ให้หลับตา สลับกับลืมตาช้าๆ ประมาณ 10 ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อจากการเพ่ง และลดอาการตาแห้ง

4.พักสายตาเป็นระยะ หลังจากการใช้งานของสายตากับหน้าจอต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นเป็นระยะสั้นๆ โดยในทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาได้พักอย่างน้อย 15 นาที และในทุกๆ 20-30 นาที ของการใช้สายตากับหน้าจอ ควรพักสายตาด้วยการละสายตาจากจอ และมองออกไปไกลๆ ซัก 15-20 วินาที หรือ จะมองไกล สลับการการมองใกล้ๆ ครั้งละ 10-15 วินาที ทำอย่างนี้ซัก 10 ครั้ง ก็จะช่วยให้สายตาได้พักอีกด้วย

5.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนที่น้อยจนเกินไป นอกจากส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองกับดวงตาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้น อย่าลืมจัดตารางให้กับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยค่ะ

6.ตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความอ่อนไหว และควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ผู้ที่ใช้สายตากับหน้าจอเป็นประจำ ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูความผิดปกติทางสายตา หรืออาการป่วยที่อาจเกิดขึ้น เพราะการทราบถึงอาการผิดปกติในระยะแรก ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะรักษา หรือป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ การพบแพทย์ และตรวจความผิดปกติของสายตา เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ที่อาจเริ่มมีอาการทางสายตาที่เกิดตามวัยได้อีกด้วย

ได้ทราบกันไปแล้ว ถึงแนวทางการป้องกัน Computer Vision Syndrome อาการป่วยจากการใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์ที่มากจนเกินไปที่อาจเกิดได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ถึงเวลาไปดูกันแล้วล่ะค่ะ ว่าหน้าจอของเราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือยัง ห้องทำงานมีปริมาณ และทิศทางของแสงที่พอเหมาะหรือไม่ และที่สำคัญ อย่าลืมให้สายตาได้พักบ้าง พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดตารางการดูแลสุขภาพตา ไปพบแพทย์เป็นระยะกันด้วยนะคะ

ที่มา : mgronline.com

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *