• 22 November 2024

หลังจากมีการแถลงออกมาเกี่ยวกับเรื่องของทรู เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือกับ กสทช. และชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้วล่าสุด ทาง กสทช. ก็มีการชี้แจ้งว่า อนุกรรมการได้ติดตามผลของการ ควบรวม ทรู-ดีแทค ทำงานต่อเนื่อง ชี้มีการ ‘ลดค่าบริการ’ โดยถ่วงน้ำหนักเฉลี่ยลดลง 12% ตามเงื่อนไขควบรวม ‘ทรู-ดีแทค‘ แล้ว แต่ยังไม่เผยตัวเลขเฉลี่ย ยัน สุ่มตรวจคุณภาพสัญญาณไม่ได้ลด แต่ตำหนิ ‘ทรู’ เรื่องการยุบเสา-ย้ายเซลล์ไซต์ ต้องแจ้งลูกค้าก่อน ย้ำ ไม่เคยคิดทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน แต่มีการใช้ข้อมูลนำไปสื่อให้เกิดความเข้าใจผิด

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าหลังการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น และคุณภาพสัญญาณแย่ลง

สำนักงาน กสทช. ขอยืนยันว่าคณะอนุกรรมการติดตามผลการควบรวมกิจการฯ ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องมีการเสนอรายงานให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. รับทราบก่อน จึงจะมีการเปิดเผยได้ 

ซึ่งรายงานผล 6 เดือน หลังการควบรวมกิจการ ได้รับรายงานจากทางทรูแล้ว แต่คณะอนุกรรมการ หมดอายุลงในวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เรื่องค้างอยู่ แต่คณะทำงานก็ได้รวบรวมและทำรายงานอย่างต่อเนื่อง ไม่เปิดเผยให้เอกชนและคนนอกรับทราบ

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นหลักตามกระแสสังคมได้พูดถึง อยากชี้แจง คือ

  1. อัตราค่าบริการที่ลดลง 12% หรือไม่ เรื่องนี้ ตามที่ทรู-ดีแทค ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช.ระบุว่าอัตราค่าเฉลี่ยบริการลดลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละรายการส่งเสริมด้านการขายภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้มีการรวมธุรกิจ

ซึ่งทรูได้ส่งข้อมูลให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบ และกสทช.ได้ทำการสุ่มตรวจสอบข้อมูล สำหรับการลดราคา ไม่ใช่ว่าผู้ใช้บริการเห็นโปรโมชั่นในท้องตลาดแล้วเข้าใจว่าไปลดราคาลง 12% แต่เป็นการลดราคาในการลดค่าเฉลี่ยว่าแพ็กเกจไหนประชาชนใช้เยอะ กสทช.จะนำมาเฉลี่ยผลลัพธ์ออกมา ซึ่งจากการตรวจสอบ ทรู ยังทำตามมาตรฐานที่ได้กำหนด แต่จากรายงานที่คณะอนุฯ ติดตามพบว่า ราคาเฉลี่ยลดลงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การเฉลี่ยราคาโดยการถ่วงน้ำหนักจากแพ็กเกจที่มีผู้ใช้มาก ที่ว่าลดลง 12% นั้น ค่าเฉลี่ยคือราคาเท่าไหร่นั้น ตัวเลขเฉลี่ยเหล่านี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ให้รับทราบก่อน แล้วมติที่ประชุมจะให้เผยแพร่หรือไม่แล้วแต่นโยบาย

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า แต่ตามกระแสข่าวที่ระบุว่ามีราคาแพ็กเกจ 299 บาท และมีแพ็กเกจอื่นๆ ที่หายไปนั้น ยืนยันว่าแพ็กเกจนี้ยังมีการให้บริการอยู่ เนื่องจากลูกค้ารายเก่ายังใช้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดใช้บริการ 30 วัน แพ็กเกจจะหมดอายุ โดยผู้ให้บริการจะให้ผู้บริโภคเลือกว่าจะต่อแพ็กเกจเดิม หรือใช้แพ็กเกจใหม่ที่กำหนด ซึ่งแพ็กเกจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการออกแพ็กเกจของแต่ละค่าย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกได้

“ขณะที่ลูกค้ารายใหม่ที่ไม่ได้เห็นแพ็กเกจ 299 บาท ที่เคยปรากฏในท้องตลาด ถ้าผู้ใช้บริการต้องการใช้แพ็กเกจสามารถสอบถามได้ ถ้าไม่ถาม ผู้ให้บริการอาจจะไม่ได้แนะนำ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ายังมีแพ็กเกจราคานี้อยู่แน่นอน และยืนยันว่า ไม่มีการบังคับลูกค้าให้เลือกใช้แพ็กเกจใดๆ” นายไตรรัตน์ กล่าว

2. คุณภาพสัญญาณ โดยเงื่อนไขระบุว่าบริษัทจะต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ หรือที่ตั้งเซลล์ (เซลล์ไซต์) เป็นสถานที่ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งสัญญาณ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับไม่ต่ำไปกว่าเดิม โดยเสาโทรคมนาคมข้างบนเสาจะเป็นเซลล์ไซต์ ที่ผ่านมา ในอดีตบ้านหนึ่งหลังมีโทรศัพท์ 3 ค่าย จะมีเสาสัญญาณรอบบ้าน จึงมีเรื่องร้องเรียนมาโดยตลอด

ดังนั้น กสทช.จึงมีการกำหนดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันขณะเดียวกัน เมื่อทรู-ดีแทค รวมกัน จึงได้ตรวจสอบพื้นที่ระหว่างเสาของทรูและเสาของดีแทค เสาไหนจะครอบคลุมประชาชนได้มากกว่า จึงจะเลือกเสานั้น ส่งผลให้มีบางจุดมีการยุบเสาไป แต่การยุบเสาไม่ได้หมายความว่าจะถอนเซลล์ไซต์ เพราะเงื่อนไขจะต้องไม่ลดเซลล์ไซต์ ทรูจึงโยกเซลล์ไซต์จากเสาที่ลดลงไปอยู่อีกเสาหนึ่ง“อย่างไรก็ตาม ได้ตำหนิทรู หลังจากการยุบเสาควรจะแจ้งประชาชนก่อน

เพราะการเคลื่อนเซลล์ไซต์ส่งผลให้สัญญาณ หรือมีการใช้อินเตอร์เน็ตช้าลง ดังนั้น การเคลื่อนไหวเซลล์ไซต์จะต้องมีการแจ้งก่อนว่าจะมีการเคลื่อนเซลล์ไซต์เมื่อไหร่ ทั้งนี้ เรื่องคุณภาพสัญญาณได้มีการออกสุ่มตรวจต่อเนื่อง สำนักงานใช้วิธีการซื้อซิมระดับกลางๆ ตรวจทุกรูปแบบ และทุกค่าย คุณภาพสัญญาณไม่ได้ลดลง”นายไตรรัตน์กล่าว

3. ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณ ตามที่มีกระแสข่าวว่า ก่อนควบรวมทรู-ดีแทค 944 เรื่อง เป็นของทรู 637 เรื่อง และดีแทค 307 เรื่อง (มกราคม-4 สิงหาคม 2566) หลังควบรวมมี 836 เรื่อง (4 สิงหาคม-30 พฤศจิกายน 2566) และหากพิจารณาสถิติร้องเรียนตามประเด็นปัญหา ของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (True-Dtac) หลังการควบรวม 659 เรื่องมีเครื่องเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณแค่ 17 เรื่อง ที่เหลือข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ข้อความกวน ความสับสนในโปรโมชั่น และอื่นๆ

“ขอเรียนย้ำว่า การควบรวม สำนักงานฯ ไม่ได้เพิกเฉย คอยติดตามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำนักงานพูดและกล้ายืนยัน ณ ที่นี้ว่า อะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เราไม่เคยคิดจะทำ เราต้องดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ดูแลทั้งผู้บริโภค ผู้ให้บริการ และตลาด เราจะดูแลทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่มีการเพิกเฉยแน่นอน แต่ข้อมูลที่นำไปเปิดเผย อาจมีการใช้ข้อมูลแล้วนำไปสื่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ วันนี้จึงมาชี้เแจง” นายไตรรัตน์กล่าว

ที่มา : snook.com

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *