สมาชิกในครอบครัวจะมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ถ้าหากมีโดรนจัดส่งสินค้า จริงหรือเปล่า ?
“พ่อ แม่ และลูกอีก 2 คนกำลังอยู่ในครัว จู่ ๆ พ่อก็นึกขึ้นได้ว่า ส่วนประกอบอาหารอย่างหนึ่งหมดแล้ว” นี่คือ ฉากหนึ่งในโฆษณาของ ซิปไลน์ (Zipline) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ด้วยโดรน
คนเป็นแม่ก็รีบกดสั่งซื้อของใหม่ผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็ว ถัดจากภาพนั้น อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนก็เตรียมจัดส่งพัสดุแล้วบินมุ่งหน้าออกไปอย่างรวดเร็ว
ภาพต่อมาคือ แม่เดินออกไปหยิบพัสดุที่วางอยู่บนสนามหญ้าหน้าบ้าน แล้วเดินกลับมาที่ครัวพร้อมหน้ากันกับพ่อ และลูก ๆ อีกครั้ง
ขอบคุณที่บริการ ช่วงเวลาแห่งครอบครัวจะไม่ถูกขัดขวางอีกต่อไป นี่คือข้อความชัดเจน ที่บริษัทจัดส่งสินค้าด้วยโดรนต้องการจะสื่อให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
“ความสะดวกสบาย คือหนึ่งในจุดขายที่สำคัญที่สุดต่อสินค้าและบริการประเภทเทคโนโลยี” ดร.พอล มาร์สเดน นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผู้บริโภค และสมาชิกของสมาคมจิตวิทยาอังกฤษ (the British Psychological Society – BPS) กล่าว
“รายงานด้านธุรกิจบางฉบับชี้ว่า ผู้คนยอมจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือมากกว่านั้น เพื่อแลกกับความสะดวกสบายโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมาย”
ความรักในความสะดวกสบายของพวกเรา จะทำให้บริการนี้เติบโตต่อไปได้หรือไม่ ?
เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างช้า ๆ
เทคโนโลยีการนำโดรนมาใช้ในการขนส่งสินค้านี้เริ่มต้นขึ้นอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่ เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของ Amazon.com นำเสนอแนวคิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในปี 2013
ในขณะนั้น ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอะแมซอนรายนี้ ได้เปิดตัว โดรนแบบออคโตคอปเตอร์ (Octocopter) ที่สำนักงานใหญ่ระดับโลกของบริษัท พร้อมให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์
เขามองว่า การจัดส่งของด้วยโดรนจะแพร่หลายภายใน “4 หรือ 5 ปีข้างหน้า”
ทว่า ผ่านมาแล้วหนึ่งทศวรรษ บริการดังกล่าวถือว่า เกิดขึ้นได้จริง แต่มันยังห่างไกลกับคำว่า ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ระบุว่า มีผู้ให้บริการโดรนขนส่งสินค้ารายใหญ่มากกว่า 10 รายทั่วโลก และมีการจัดส่งพัสดุเชิงพาณิชย์ไปแล้วราว 874,000 ชิ้น ในปี 2022
จากข้อมูลดังกล่าว นั่นหมายความว่า มีการจัดส่งสินค้าด้วยโดรนทั่วโลกประมาณวันละ 2,395 เที่ยว ขณะที่การจัดส่งพัสดุทางบกจำนวนสูงถึง 273 ล้านชิ้นในทุก ๆ วัน ที่เกิดขึ้นปี 2020
อะไรคือ ปัจจัยที่ทำให้ความนิยมในโดรนขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างล่าช้า
ประการแรก คือ การพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อให้โดรนสามารถบินได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง
อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับที่เข้มงวดซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานด้านการบิน
การยอมรับของสาธารณชนก็มีบทบาทเช่นกัน โดยพบว่า ข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยได้ขับเคลื่อนการรณรงค์ต่อต้านการใช้โดรน งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่ซื้อสินค้าออนไลน์ มักปฏิเสธการใช้งานโดรนมากขึ้น
“มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ที่มักสงสัยเกี่ยวกับแนวความคิดใหม่ ๆ” ดร.มาร์สเดน กล่าว
“ในยุควิกตอเรีย ยังเกิดความตื่นตระหนกทางศีลธรรมและการแพทย์เกี่ยวกับการขี่จักรยานว่ามันจะทำให้คุณป่วย และทำให้ผู้หญิงมีลูกไม่ได้”
“เมื่อกระจกเงาบานแรกถูกสร้างขึ้น ผู้คนก็บอกว่าอาการหลงตัวเองจะเพิ่มขึ้น และตอนนี้ คุณก็มีสื่อสังคมออนไลน์ที่เลียนแบบผลสะท้อนของกระจกเงา”
เขาเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ผู้คนกังวลมากที่สุดการใช้บริการส่งของด้วยโดรน จะทำให้ต้องพึ่งพาระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น และทำให้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนที่คนมากขึ้นด้วย
“โดรนกำลังถูกนำมาใช้ในช่วงที่มีกระแสการตอบโต้ต่อการใช้เทคโนโลยีมากเกินไปในชีวิตของเรา โดยเฉพาะในกลุ่มคนบางกลุ่ม”
เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่า ?
สำหรับคำถามนี้ หากมองด้วยความกลัวของเหล่า “เทคโน-ดิสโทเปีย” หรือ ผู้มองเทคโนโลยีคือตัวร้าย ก็อาจมีความเป็นไปได้
“ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเสียงของโดรนจะไม่ดังกว่าการจราจรปกติ แต่ผลศึกษาชี้ว่าเสียงหึ่ง ๆ ของมันน่ารำคาญเป็นพิเศษ” ดร.มาร์สเดน อธิบาย
“หากเสียงหึ่ง ๆ ของยุงทำให้คุณตื่นได้ตลอดทั้งคืน ก็ลองคิดดูว่าเสียงของกองทัพโดรนจะทำให้การนอนของคุณเป็นอย่างไร”
ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหมดกำลังพยายามลดระดับเสียงของอุปกรณ์ต่าง ๆ ลง
แม้โดรนได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยลดการปล่อยสารประกอบคาร์บอนสู่ธรรมชาติ เมื่อเทียบกับการขนส่งโดยรถบรรทุก แต่ในส่วนผลกระทบต่อสัตว์ป่ายังมีงานศึกษาไม่มากนัก
สองปีที่แล้ว วิง (Wing) บริษัทลูกของ อัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ กูเกิล ต้องระงับการจัดส่งของไปยังชานกรุงแคนเบอร์ราในประเทศออสเตรเลียตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านนกที่บริษัทว่าจ้าง พบว่า มีอีกาที่กำลังทำรังตัวหนึ่งได้บินโฉบโดรนขณะบินไปส่งกาแฟ
จัดส่งสิ่งของเพื่อช่วยชีวิต
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพียงเพื่อการช้อปปิ้งเท่านั้น
จากข้อมูลของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุว่า มี 18 ประเทศที่ได้พัฒนาการจัดส่งโดรนเพื่อการขนส่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 โดยสิ่งของที่จัดส่ง ได้แก่ พัสดุตัวอย่างทางการแพทย์, ยาและเวชภัณฑ์ และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นต้น เพื่อจัดส่งไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงบ้านเรือนในช่วงล็อกดาวน์
ย้อนไปเมื่อปี 2019 โดรนยังถูกใช้จัดส่งไตที่ได้รับการบริจาคไปยังผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก
รวันดา ซึ่งเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเนินเขานับพันและถนนที่คดเคี้ยว ยังเป็นที่แรกในโลกที่ยอมรับการจัดส่งเชิงพาณิชย์ด้วยโดรน โดยบริษัท ซิปไลน์บินจัดส่งเลือดที่นั่นในปี 2016
ทางบริษัทประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า โดรนของพวกเขาจะจัดส่งของในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชนบทในประเทศกานา ซึ่งช่วยให้เข้าถึงสถานที่ที่การบริการจัดส่งแบบเดิม ๆ กำลังเผชิญกับความท้าทาย
นาซาและโดรน
ข้อมูลของ แมคคินซีย์ แสดงให้เห็นว่าการจัดส่งของโดยโดรนเชิงพาณิชย์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ พัสดุมากกว่า 1 ล้านชิ้นจะถูกจัดส่งด้วยโดรนภายในปีนี้ ซึ่งถือว่า เป็นการทำลายสถิติอีกปี
การเติบโตนี้ขึ้นอยู่กับ “แอปพลิเคชันใหม่ ๆ มากมายที่เอื้อให้จัดส่งอาหาร ยา และสินค้าต่าง ๆ ไปยังผู้บริโภคทั่วโลก”
แอมะซอนประกาศเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2023 ที่ผ่านมาว่า จะเปิดตัวโดรนจัดส่งของในประเทศอิตาลี สหราชอาณาจักร และ แห่งที่ 3 ในสหรัฐอเมริกา (รองจาก แคลิฟอร์เนีย และ เท็กซัส) ในช่วงปลายปี 2024
ทางซิปไลน์กำลังวางแผนที่จะก้าวไปอีกขั้นด้วยการใช้โดรนไร้ผู้สังเกตการณ์ภาคพื้นดิน ตลอดเส้นทางการจัดส่ง
ในขณะเดียวกัน ทางนาซาจับมือกับบริษัท 2 แห่ง คือ เอลรอย แอร์ และ รีไลเอเบิล โรโบติคส์ เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดส่งสินค้าในรูปแบบการเคลื่อนย้ายทางอากาศขั้นสูง หรือ Advanced Air Mobility
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โดรนจัดส่งพัสดุขนาดเล็กและเครื่องบินบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อจัดหาวิธีการเคลื่อนย้ายพัสดุที่ “รวดเร็วและเรียบร้อยมากขึ้น”
สิ่งที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโดรนจัดส่งของ
แล้วพวกเราควรเตรียมตัวเพื่อรับมือกับโดรนจัดส่งของให้มากขึ้นอย่างไร ?
ดร. มาร์สเดน แนะนำว่า พวกเราควรหาความรู้ด้วยตัวเอง
“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องลบภาพโฆษณาที่เกินจริงออกไป และเรียนรู้เท่าทันเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อจะได้ตัดสินใจจากหลักฐาน ไม่ว่าเราจะใช้งานหรือไม่ก็ตาม”
“เมื่อคุณซื้อสินค้า คุณกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มันช่วยคลายความเหงาและช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น”
“การมองออกไปรอบ ๆ ในร้านค้าหรือลองทำสิ่งต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้าเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง มันทำให้คุณออกจากกิจวัตรประจำวัน และทำให้คุณได้จดจ่ออยู่กับตัวเอง”
“แต่เมื่อคุณมีโดรนจัดส่งของ จิตวิทยาจากการซื้อของดังกล่าวก็จะไร้ผล”
“อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง คุณประหยัดเวลาเดินทางไปซื้อของ และสามารถใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ครอบครัว หรือทำงานอดิเรกได้มากขึ้น”
“เมื่อเทคโนโลยีช่วยลดเวลาและความพยายามต่าง ๆ ลง เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ เราก็มักถูกมันดึงดูดได้อย่างง่ายดาย นั่นแหละ คือ ธรรมชาติของมนุษย์”
สุดท้ายแล้วการบริการสินค้าด้วยโดรนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรอติดตามกันต่อไป การมีโดรนเข้ามาช่วยในการจัดส่งสินค้าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราจริงหรือไม่
ที่มา : https://www.bbc.com/thai/articles/cv25vl1jmlxo
No Comments