• 23 November 2024

“AI เป็นเหมือนดาบสองคม” มีทั้งด้านประโยชน์ที่ช่วยให้ชีวิต มนุษย์สะดวกสบายขึ้น ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้ปาฐกถาพิเศษ AI กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินการคลัง จัดโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ไว้ว่า…

ปัจจุบัน AI มีความล้ำหน้ากว่า Robotics มาก ทำให้เมื่อพูดถึง AI มักมีคำถาม จะเข้ามาทดแทนมนุษย์หรือไม่ ข้อกังวล ถัดมามองว่า “AI จะเข้ามาแทนการจ้างงานมนุษย์จนไม่มีที่ยืน” ในส่วนตัวค่อนข้างเห็นแย้งเพราะด้วยหลังจากการเข้ามาของเทคโนโลยีนั้นมักนำมาซึ่ง “ความเจริญเติบโตและขนาดของ เศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น”

ทำให้เกิดความหลากหลายในทางธุรกิจนำไปสู่การจ้างงานเยอะมากกว่าเดิมภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนภาคเอกชนและแรงงานให้สามารถปรับตัวเท่าทัน มุมแรก…“ภาคเอกชน” เรื่องนี้สามารถจำแนกออกได้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1.ปล่อยให้ภาคเอกชนปรับตัวตามยถากรรมให้เป็นไปตามสภาพต่างๆ แต่อาจจะเป็นไปในรูปแบบการปรับตัวที่กระจัด กระจาย และไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ประเทศกำลังจะมุ่งเป้าไปดังนั้น การปรับตัวนี้ “ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน” หากรัฐใดละเลยปล่อยให้ภาคเอกชนเดินไปอย่างสะเปะสะปะโดยไม่มี ยุทธศาสตร์กำหนดทิศทาง“ประเทศย่อมไม่ประสบความสำเร็จ”แง่มุมที่สอง…“การปรับตัวของแรงงาน” ก็มีความสำคัญเช่นกัน ด้วยแรงงานเป็นฐานผลิตของประเทศ “ถ้าประสิทธิภาพไม่เท่าทันเทคโนโลยีก็จะเกิดช่องว่างระยะห่าง” ในที่สุดแรงงานจะเป็นฝ่ายถูกทิ้ง

“ฉะนั้นโจทย์หลักสำคัญต้องทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพเติบโตให้เท่าทันกับเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามา แล้วแน่นอนว่าเครื่องจักรคงไม่สามารถมาแทนมนุษย์ได้ตราบใดที่เรายังมีการพัฒนาให้มนุษย์ฉลาดสามารถควบคุมเครื่องจักรอันเป็นหัวใจสำคัญ หากทำไม่ได้ก็จะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน” ดร.เผ่าภูมิ ว่า

ถัดมาอยากแตะ “เรื่องความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี” มีคำถาม เสมอว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้จะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หรือน้อยลง เรื่องนี้อาจเกิดได้ทั้งความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่น้อยลง

อย่าง “e–commerce” เป็นเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความ เหลื่อมล้ำให้ประชาชนที่ไม่มีทุนทรัพย์พอต่อการเปิดร้านค้าขายเพราะไม่มีที่ดินหรือฐานผลิต สามารถแข่งขันกับเจ้าใหญ่ได้แต่ด้วย e-commerce เป็นการให้บริการในความหลากหลายของสินค้าตรงตามความต้องการผู้บริโภค ดังนั้นมิติเทคโนโลยี e-commerce จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำนี้

แต่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ไม่อาจแก้ได้ทั้งหมด…ด้วยว่าเทคโนโลยี บางอย่างยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

แม้แต่ขนาดองค์กรก็มีระดับต่างกัน “บริษัทมีทุนหนาอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มขนาดใหญ่มากกว่าเดิม” ขณะที่บริษัทเล็กๆไม่มีทุนทรัพย์ลงทุนกับเทคโนโลยีก็จะล้มหายตายจากไป สิ่งนี้เป็นหน้าที่ภาครัฐ ต้องเข้ามาช่วยโอบอุ้มให้กลุ่มคนส่วนล่างของสังคมเข้าถึง “เทคโนโลยี” ไม่ว่าจะช่วยเหลือในมิติทางการคลัง และมิติทางการเงินก็ตาม

ประการต่อมา “เรื่องข้อมูล หรือ DATA” เป็นที่ทราบกันดี เกี่ยวกับ “ข้อมูล” สำหรับบุคคลใดมีข้อมูลมากมักได้เปรียบเสมอไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน เช่น ภาครัฐมีข้อมูลประชากร รายได้ อาชีพ และข้อมูลความเดือดร้อนเป็นกลุ่มย่อมก็จะช่วยการออกแบบนโยบายให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นรายกลุ่มได้

สิ่งนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ว่าปัจจุบันข้อมูลของประเทศ ไทยยังไม่ดี โดยเฉพาะข้อมูลประชากรส่งผลให้ภาครัฐหาคนจนไม่เจอ และไม่อาจชี้เป้าว่าใครคือคนจนต้องช่วยเหลือ

เรื่องนี้ก็ขอยกตัวอย่างนโยบายที่มีผลพลอยได้อันจะช่วยคนจน กระตุ้นการออมด้วย “หวยเกษียณ” ที่รัฐบาลกำลังจะออกมาให้ซื้อผ่านแอปพลิเคชันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยหากถูกรางวัลก็จะได้เงินไปแต่หากไม่ถูกรางวัลจำนวนเงินที่ซื้อหวยทุกบาททุกสตางค์จะถูกนำเก็บในบัญชีส่วนตัวของผู้ซื้อจนถึงอายุ 60 ปี

นั่นแปลว่า “ผู้ซื้อ” ได้ลุ้นรางวัลทุกงวดแล้วเวลาเกษียณ 60 ปี “เงินซื้อหวยก็จะกลับมาเป็นเงินออม”

ถัดมานโยบายเกี่ยวกับ AI กำลังจะเกิดขึ้นคือ “ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank” เป็นธนาคารที่ใช้ข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์เกี่ยวกับสินเชื่อด้วย AI เพราะปัจจุบันคนที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ “มักเป็นผู้มีสลิปเงินเดือนรายได้แน่นอน” แต่คนไทยอีกกว่าครึ่งประเทศไม่มีเอกสารสามารถแสดงรายได้นั้น

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เช่น วินมอเตอร์ไซค์คนขับแท็กซี่ เมื่อเดินเข้าสถาบันการเงินมักต้องถูกผลักออกมาทันทีกลายเป็นไหลเข้าไปสู่สินเชื่อนอกระบบก่อเกิดปัญหามากมาย ดังนั้นปัญหานี้ จะถูกแก้จาก “Virtual Bank” ที่เป็นข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์ชำระหนี้ เช่น ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และการใช้บริการอีคอมเมิร์ซ

นำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อด้วย AI ออกมาเป็นข้อมูลค่าความเสี่ยงในการชำระหนี้ ทำให้กลุ่มอาชีพอิสระมีโอกาส เข้าถึงสินเชื่อในระบบ สิ่งนี้เป็นนวัตกรรมโอบอุ้มกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน

สุดท้ายคือ “Digital Economy” ปัจจุบันในภาพรวม Digital Economy มีสัดส่วนขนาด 15% ของ GDP โลก สำหรับประเทศไทยมีขนาดอยู่ที่ 12% ของ GDP ไทย นั่นหมายความว่ากำลังต่ำกว่าค่ากลางของโลกเล็กน้อยที่ยังมีความสามารถที่จะโตได้ แต่ว่าตอนนี้ Digital Economy กลับโตเร็วกว่าเศรษฐกิจปกติ 2.5 เท่า

ตัวเลขนี้กำลังบอกว่าหากจมปักกับเศรษฐกิจสมัยเก่าจะทำให้ผู้ใช้เศรษฐกิจสมัยใหม่โตเร็วกว่าเรา 2.5 เท่า ส่งผลให้ไม่อาจโตเท่าทัน ประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่

ดังนั้น “ประเทศไทย” ต้องไปสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ให้ได้

“รัฐบาลตั้งเป้าไว้ปี 2569” จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้านดิจิทัลไทยให้อยู่ลำดับ 30 เพื่อกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอาเซียน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนในงานฟอรัม AI : ปัญญาประดิษฐ์พลิกโฉมเศรษฐกิจของชาติ โดยรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และ รพ.ม.เกษตรศาสตร์ ต่อไป.

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *