• 6 December 2024

ใครบอกเศรษฐกิจไม่ดี เงินเฟ้อพุ่ง ค่าไฟแพง แต่ไฉนคนกลับแห่ซื้อของออนไลน์กันทุบสถิติทุกปี

ก่อนที่จะถึงเทศกาล 12.12 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ มาลองสำรวจตัวเราและสำรวจสถานการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วโลกให้รอบด้านกัน

เริ่มกันโลกฝั่งตะวันตก เทศกาลลดราคา Black Friday หลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้ายาวไปถึง Cyber Monday ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า มียอดการใช้จ่ายสูงถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวเลขจากสำนักข่าว CNBC ระบุว่า ชาวอเมริกันใช้เงินช้อปปิ้งเฉลี่ยคนละ 325 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งสูงกว่าตัวเลขปีที่แล้วที่ 301 ดอลลาร์สหรัฐ

รายงานของเฟดเอ็กซ์พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 84% มีการใช้จ่ายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา

ด้าน Shopee ของไทยโชว์ผลประกอบการปีที่แล้ว ทะลุ 1 หมื่นล้านบาทเป็นครั้งแรก ด้วยแรงหนุนโค้งสุดท้ายของปีในช่วงเทศกาล 12.12 มีลูกค้าใช้โค้ดไปมากกว่า 850 ล้านโค้ด

ขณะที่ย้อนไปเพียงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา Lazada เผยยอดขายในเทศกาล 11.11 ของไทยบน LazMall เพิ่มขึ้นกว่า 300 เท่า ภายใน 2 ชั่วโมงแรก และยอดขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นกว่า 124 เท่า ภายใน 11 นาทีแรกของแคมเปญ

มองในมุมจิตวิทยา เมื่อคนรู้สึกว่าต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงอดใจรอเทศกาลลดราคาครั้งใหญ่ประจำปี เพื่อกว้านซื้อของถูกในคราวเดียว แต่เมื่อเจอโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมจนนิ้วสั่น กลับกลายเป็นได้ของเกินจำเป็นมากองเต็มบ้าน

ในขณะที่บางคนใช้การช้อปปิ้งเป็นที่ระบายความเครียดหรือฉลองให้กับความเหน็ดเหนื่อยทั้งปีที่ผ่านมา นับเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า shoppertainment จนอาจจำไม่ได้ว่าเผลอกดสั่งอะไรไปบ้าง

การตลาดที่ส่งเสริมให้คนซื้อของเพิ่มตลอดเวลา เป็นผลพวงมาจากระบบทุนนิยมแบบดั้งเดิม ที่วัดการเติบโตจากการผลิตเท่านั้น ทรัพยากรทั่วโลกถูกนำมาผลิตสินค้า ให้ผู้คนใช้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว และทิ้งไปอย่างไม่ใยดี

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ผลิต-ใช้-ทิ้ง เป็นสมการเส้นตรงแบบนี้เรื่อยไป จนวันนี้เราเริ่มตระหนักแล้วว่า จะไม่มีทรัพยากรเหลือเพียงพอให้กับลูกหลานแล้ว

จึงเป็นที่มาของแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มองระบบการผลิตเป็นวงกลม เริ่มตั้งแต่การลดการนำทรัพยากรมาผลิต ใช้ของเดิมซ้ำให้นานที่สุด และรีไซเคิลของเหลือทิ้งให้เอามาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าใหม่

สำหรับเราในฐานะผู้บริโภค ด้วยสามคำง่าย ๆ อย่าง Reduce – Reuse – Recycle สามารถเป็นคาถานำทางให้เราเตือนตัวเองก่อนสติหลุดชั่ววูบไปกับป้ายลดราคาตัวแดง ๆ

Reduce – มาลองสำรวจของภายในบ้านก่อนที่จะสั่งซื้อใหม่ อาจใช้คอนเซปต์มินิมอลเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อพบว่าของที่กำลังจะกดซื้อเกิดจาก “ความอยาก” ไม่ใช่ “ความจำเป็น” ก็ช่วยให้เราลดการซื้อลงได้ หรือลองใช้สูตรซื้อใหม่ 1 ชิ้นต้องกำจัดของ 2 ชิ้น เพื่อป้องกันของล้นบ้าน

Reuse – พยายามใช้ของเดิมที่มีอยู่ให้ได้นานที่สุด หรือซ่อมแซมของที่มีอยู่ วิธีคิดนี้ช่วยให้เราอยากซื้อของที่คุณภาพดีมีความคงทนตั้งแต่ต้น แม้จะแพงกว่า แต่ด้วยอายุการใช้งานที่นานกว่า สามารถช่วยโลกและช่วยกระเป๋าเงินเราไปพร้อมกัน

Recycle – ของชิ้นไหนที่ใช้ไม่ได้แล้วต้องกลายไปเป็นขยะในที่สุด มาลองหาที่ทิ้งให้ถูกทาง เช่น เสื้อผ้าเก่าสามารถส่งต่อให้มูลนิธิต่าง ๆ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งต่อให้บริษัทที่รับทำลายโดยเฉพาะ กล่องกระดาษส่งให้ซาเล้งไปขายต่อได้ และรู้หรือไม่ว่าบับเบิ้ลกันกระแทก ก็สามารถส่งต่อให้โครงการวน นำเข้าโรงงานพลาสติกไปรีไซเคิลต่อ

เมื่อผ่านด่านแรกของการเตือนตัวเองไม่ให้ซื้อของเกินจำเป็นแล้ว มาลองพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการช้อปปิ้งออนไลน์กัน เพราะแท้จริงแล้ว ยังมีความสิ้นเปลืองที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่ด้วย

ทุกการเดินทางของรถบรรทุกส่งของได้สร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปัจจุบันการขนส่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งโลกคิดเป็น 3% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

และจะเพิ่มขึ้นเป็น 17% ภายในปี 2050 ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเลขปัจจุบันของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการเดินทางทุกรูปแบบบนโลก ทั้งทางบก น้ำ อากาศ

แต่การขนส่งพัสดุไม่ใช่ตัวเลขที่น่ากลัวที่สุด ผู้ร้ายตัวโตที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การผลิตบรรจุภัณฑ์ คิดเป็นถึง 45% ของการปล่อยมลพิษในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ลองจินตนาการถึงการถางป่ามาเพื่อผลิตกล่องกระดาษ หรือการขุดน้ำมันเพื่อผลิตพลาสติกกันกระแทกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon พยายามรณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2015 ด้วยการลงทุนพัฒนาอัลกอริทึมที่ช่วยคำนวณขนาดกล่องและสินค้าให้พอดีกัน ทำให้ใช้กระดาษลังและพลาสติกกันกระแทกน้อยลง สามารถลดน้ำหนักของพัสดุได้เฉลี่ย 38% ลดปริมาณบรรจุภัณฑ์เกินจำเป็นได้ถึง 1.5 ล้านตันในในปี 2021 และที่สำคัญ วัสดุทุกอย่างสามารถทิ้งลงถังรีไซเคิลได้

นอกจากนี้ นโยบายคืนสินค้าที่ถูกใจผู้บริโภคก็จริง แต่เป็นเรื่องหนักใจของนักสิ่งแวดล้อม เพราะการคืนสินค้าไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจใด ๆ แถมยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 25% ของการปล่อยมลพิษในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแฟชั่น ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ Zalando เผยว่าในแต่ละปี มีการคืนสินค้ามากถึง 50% แถมสินค้าที่รับคืนส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปขายเป็นมือหนึ่งได้อีกแล้ว

เทคนิคสำหรับร้านค้าออนไลน์ให้ลดการคืนสินค้าและทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว คือการขายของให้ตรงปก ควรให้ข้อมูลสินค้าอย่างครบถ้วนและนำเสนอรูปสินค้าอย่างละเอียดทุกมุม

เทรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์ยังเติบโตได้อีกมหาศาลแน่นอน ยังมีประชากรอีกหลายล้านคนในประเทศโลกที่สาม ที่เพิ่งเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตและกำลังเพลิดเพลินกับการสั่งของออนไลน์

การสร้างจิตสำนึกเรื่องความยั่งยืนให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ผู้บริโภค ผู้ผลิต บริษัทขนส่ง ต้องทำไปพร้อมกัน มิฉะนั้น ความสนุกในการช้อปวันนี้จะกลายเป็นความเดือดร้อนย้อนกลับมาหาโลกของเราในวันหน้า

อ้างอิง:

https://www.statista.com/statistics/1254302/e-commerce-average-emissions-by-source/
https://www.statista.com/statistics/1254302/e-commerce-average-emissions-by-source/
https://sustainability.aboutamazon.com/environment/packaging

แหล่งที่มา : workpointtoday

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *