• 14 September 2024

‘เอ็นทีที’ เทคคอมพานีสัญชาติญี่ปุ่น เปิด 7 คาดการณ์เทคโนโลยีหลักปี 2567 ชี้โลกจะเห็นการผสมผสานทั้งแนวโน้มเกิดใหม่และแนวโน้มหลัก ที่มีการยอมรับอยู่แล้ว เช่น Generative AI คาดว่า จะส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทั้งด้านเครือข่าย การประมวลผลแบบเอดจ์ ไพรเวท 5จี หรือการใช้บริการ 5จี แบบส่วนตัว ศูนย์ข้อมูล และระบบคลาวด์

“ชาฮิด อาร์เหม็ด” รองประธานบริหาร กลุ่มกิจการใหม่และนวัตกรรม เอ็นทีที (NTT Ltd.) กล่าวว่า “การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ หรือ AI Adoption กำลังเติบโตแบบทวีคูณ แต่ด้วยแนวคิด AGI  หรือ Artificial General Intelligence

และสุดยอดเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการพัฒนา ดังนั้น มนุษย์จึงจะยังคงเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรม เอไอ”

ทั้งย้ำว่า องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องขยายวิสัยทัศน์ให้มองไกลกว่าปีหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทจะมีความสามารถในการเปิดรับเทคโนโลยีในอนาคต และประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

เอ็นทีที คาดการณ์ 7 เทคโนโลยีที่จะมีอิทธิพลต่อโลกปี 2567

1.Dark NOC (Next Generation Network Operation Center) จะมีอิทธิพลต่อโลกเครือข่าย ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้จัดการงานไอที หรือ AIOps (Artificial Intelligence for IT Operations) ทำให้เกิดเป็นแนวคิดสร้างศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ทำงานได้โดยไม่ต้องเปิดไฟแม้แต่ดวงเดียว แนวคิดนี้ กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

คาดว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้า บริษัทด้านเครือข่ายหลายแห่งจะบูรณาการนำเอไอมาจัดการงานไอทีให้ทันสมัยเข้ากับระบบงานอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีเป้าหมายปรับปรุงคุณภาพเครือข่าย สนับสนุนการทำงานวิศวกรระบบอย่างเต็มที่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัยขึ้น

2.เอไอ จะผลักดันการลงทุนเพิ่มขึ้น ในด้านการสร้างแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ ตู้แรคชั้นวางศูนย์ข้อมูล แบบทั่วไปมักใช้พลังไฟฟ้าระหว่าง 6-8 กิโลวัตต์ แต่ความแพร่หลายของเอไอ กำลังดันให้องค์กรต้องติดตั้งแรคเพิ่มขึ้นจนเร่งการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น

พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าแตะระดับ 50-100 กิโลวัตต์ขึ้นไป และคาดว่าการจะขยายตัวต่อเนื่องอีก 2 เท่า และ 3 เท่าในไม่กี่ปีจากนี้ อีกด้าน ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ที่หนาแน่นเหล่านี้ยังมีความร้อนมากกว่าเดิม จนต้องการระบบระบายความร้อนเพิ่มเติม กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับองค์กรที่มุ่งมั่นจะบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ปี 2024 กฎระเบียบกำกับดูแลศูนย์ข้อมูลที่เข้มข้นขึ้น จะเป็นอีกแรงที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีมาตรการยกระดับการใช้และการผลิตพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนที่วางไว้

3.ความยั่งยืนจะเป็นศูนย์กลางทุกโซลูชั่นที่ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ มีแนวโน้มว่า ความยั่งยืนจะมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นในปีหน้า ความยั่งยืนหรือ Sustainability ได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ใน 3 ตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมหลัก เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้างด้านไอที ภาวะนี้ จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการนำร่องเลือกใช้เทคโนโลยี การลงทุน การจัดซื้อ และการปรับขนาดระบบของทีมไอที ซึ่งต้องรองรับกฎระเบียบที่กำลังอยู่ระหว่างการขยายผลและการพัฒนาอย่างเข้มงวดขึ้น

ตัวอย่างชัดเจน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ศูนย์ข้อมูลเยอรมนีต้องจัดหาไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติม และเงื่อนไขนี้จะขยายขอบเขตเป็น 100%ในปี 2570

บนเส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ หลายองค์กรจะหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น เช่น เครือข่าย 5จี ส่วนตัว (Private 5G)

4.เครือข่ายใยแก้วนำแสง (Optical Networking) จะถูกใช้งานมากขึ้น เน้นให้ความสำคัญประสิทธิภาพของเครือข่าย ความน่าเชื่อถือ ความยั่งยืน และความพร้อมในอนาคตที่มากขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนเครือข่ายออปติกให้เป็นที่สนใจในปี 2567 โดยการทดลองล่าสุดแสดงถึงศักยภาพการรับส่งข้อมูลที่เหนือชั้น บนอัตราการส่งข้อมูลที่ 1.2Tbps (เทราบิตต่อวินาที)

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ความต้องการโซลูชันเครือข่ายขั้นสูงเพิ่มสูงขึ้น คือ ผู้บริหารระดับสูงกว่า 90% ในอุตสาหกรรมต่างๆ กระตือรือร้นที่จะปรับปรุงเครือข่ายของบริษัทให้ทันสมัย เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญ และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

นอกจากนี้ ความพยายามร่วมกันเพื่อเอาชนะข้อจำกัดโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีออปติคอลนั้นกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรมากกว่า 100 แห่งได้ร่วมมือกันผลักดันโครงการ IOWN (Innovative Optical and Wireless Network) โครงการที่ช่วยให้มั่นใจว่าทั่วโลกพร้อมสำหรับเทคโนโลยีในอนาคต และจะมีการนำเครือข่ายออปติกมาใช้งานมากขึ้น จนอาจเข้าใกล้การถูกใช้งานเป็นกระแสหลักปี 2567

5.ระบบนิเวศอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) จะกระตุ้นการใช้เครือข่าย 5จีส่วนตัว และเอดจ์ การทำงานร่วมกันของ ไอโอที และเครือข่าย 5จี ส่วนตัว การประมวลผลที่ปลายทางเครือข่ายหรือเอดจ์ ช่วยเพิ่มศักยภาพให้องค์กรมีข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ ส่งเสริมให้องค์กรตัดสินใจได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน องค์กรหลายแห่งยังเพิ่มความเข้มข้นในการเปลี่ยนผ่านระบบให้เป็นดิจิทัล เพราะมีความต้องการในการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น บนความแพร่หลายของอุปกรณ์ที่เด่นชัดมากขึ้น ทั้งหมดล้วนสะท้อนความจำเป็นให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัลยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างรวดเร็ว องค์กรจำนวนมากหันไปหาการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก โดย 8 ใน 10 คาดว่าจะพึ่งบริการเอดจ์ จากบริษัทอื่นเพิ่มมากขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า

6.ทักษะมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญในยุค ‘เอไอ’ รายงาน Global CX Report ประจำปีนี้ของเอ็นทีที พบว่า ส่วนสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้า (CX) ยังคงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากมนุษย์เป็นองค์ประกอบ แม้ว่าองค์กร 4 ใน 5 แห่งวางแผนที่จะบูรณาการ เอไอ เข้ากับการมอบประสบการณ์ลูกค้าในอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่ผู้บริหารจำนวนมาก ยังมองทรัพยากรมนุษย์เป็นแกนสำคัญต่อเส้นทางที่ผู้บริโภคเดินไป

ขณะที่ องค์กรมากมายลงมือสำรวจว่า ระบบอัตโนมัติสามารถประสานและเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ได้อย่างไร คาดว่าองค์กรเหล่านี้จะเพิ่มการมุ่งเน้นเรื่องการจัดการกับช่องว่างทักษะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายต่อแรงบันดาลใจในการใช้งานเอไอ ทั้งนี้ ความเชี่ยวชาญพื้นฐานเอไอ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้านั้น พร้อมกลายเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับงานส่วนใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม

การวิจัยโดย เอ็นทีที ดาต้า ยังพบว่า ธุรกิจที่มีความสามารถทำกำไรมากกว่า 25% ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มักเกิดจากการลงทุนในการเพิ่มทักษะใหม่ และยกระดับทักษะ แนวโน้มนี้คาดว่า จะดำเนินต่อไปในปี 2567

7.คลาวด์คอมพิวติ้งล่องหนได้ จะเริ่มเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เมื่อทำงานได้อย่างราบรื่น สภาพแวดล้อมคลาวด์จะค่อยๆ ล่องหนหรือหายไปในพื้นหลัง ปล่อยให้แอปพลิเคชันกลายเป็นจุดสนใจที่โดดเด่น ซึ่งแม้คลาวด์ล่องหนนี้ จะถูกนำไปใช้กับทั้งแอปพลิเคชันสำหรับสำนักงานทั่วไป เครื่องมือการจัดการโครงการ โซลูชันซีอาร์เอ็ม และงานอื่นในลักษณะเดียวกันอย่างประสบความสำเร็จแล้ว แต่ยังถือว่าไม่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะทาง โดยภาวะนี้จะเปลี่ยนแปลงปีหน้า

ปี 2567 คลาวด์ที่ปรับให้เหมาะกับอุตสาหกรรมเฉพาะทาง จะรวมเอาซอฟต์แวร์ และรูปแบบบริการคลาวด์ทั้ง PaaS และ IaaS เพื่อส่งมอบยูสเคสการใช้งานที่เน้นเพิ่มผลลัพธ์ทางธุรกิจ ทำให้เทคโนโลยีคลาวด์มีภาวะล่องหนหรือแทบจะมองไม่เห็น

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการด้วยดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันสำหรับอุตสาหกรรมขนส่งและการป้องกันประเทศ มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่มีการจัดการ (managed cloud) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่าย และลดต้นทุนระยะยาว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *