• 5 October 2024

การ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก เปิดข้อมูล 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ปี 2567 ที่องค์กรต้องจับตาเพื่อปรับใช้และรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังมาและมีแนวโน้มว่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจในอนาคต

1.Democratized Generative AI

Generative AI (หรือ GenAI) กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสาธารณะด้วยการผสานเข้ากับการประมวลผลคลาวด์และระบบโอเพนซอร์ส ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถเข้าถึงโมเดลเหล่านี้ได้ ซึ่งการ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2569 องค์กรมากกว่า 80% จะใช้ GenAI API และโมเดลต่างๆ หรือปรับใช้แอปพลิเคชันที่เปิดใช้งาน GenAI ในสภาพแวดล้อมการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2566 ที่มีการใช้น้อยกว่า 5%

แอปพลิเคชัน GenAI ต่างๆ จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงแหล่งข้อมูลจำนวนมากจากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อใช้ในทางธุรกิจได้ ซี่งหมายความว่าการนำ GenAI มาใช้อย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดองค์ความรู้และทักษะในองค์กรอย่างเสรี และมีนัยสำคัญ 

AI Trust, Risk and Security Management

การเข้าถึง AI แบบเสรีทำให้ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์สำหรับจัดการด้านความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง และการรักษาความปลอดภัย หรือ TRiSM อย่างเร่งด่วนและชัดเจนมากยิ่งขึ้น และหากไม่มีกลยุทธ์ที่เป็นกรอบการใช้ AI จะทำให้ได้รับประโยชน์จาก AI ได้ไม่เต็มที่

ซึ่งการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 องค์กรที่ใช้การควบคุม AI TRiSM จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ โดยสามารถจัดการกับข้อมูลที่ผิดพลาด และผิดกฎหมายได้มากถึง 80%

3.AI-Augmented Development

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น GenAI และ Machine Learning เพื่อช่วยในการออกแบบ เขียนโค้ด และทดสอบแอปพลิเคชันให้กับวิศวกรซอฟต์แวร์ จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของนักพัฒนา พร้อมช่วยให้วิศวกรซอฟต์แวร์ใช้เวลาเขียนโค้ดน้อยลง และสามารถใช้เวลากับงานเชิงกลยุทธ์อย่างเช่นการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบของแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่น่าสนใจได้มากขึ้น

4.Intelligent Applications

การ์ทเนอร์ให้คำจำกัดความของ “แอปพลิเคชันอัจฉริยะที่มีความชาญฉลาด” ว่าเป็นความสามารถในการเรียนรู้ปรับตัวให้ตอบสนองอัตโนมัติอย่างเหมาะสม ซึ่งข้อมูลอัจฉริยะนี้สามารถนำไปใช้ในหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มหรือทำงานอัตโนมัติได้ดียิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการใช้งานแอปพลิเคชันอัจฉริยะนั้นยังคงมีอยู่ แต่จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ยังคงพบว่า 26% ของผู้บริหารระดับ CEO มองว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายมากที่สุดต่อองค์กร ขณะที่ AI ได้รับเลือกให้เป็นเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมในช่วงสามปีข้างหน้า

5.Augmented-Connected Workforce

Augmented-Connected Workforce (ACWF) เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าจากแรงงานมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้แอปพลิเคชันอัจฉริยะและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของบุคลากรเพื่อสร้างบริบทและแนวทางการทำงานเพื่อสนับสนุนประสบการณ์ ความเป็นอยู่ที่ดี และความสามารถในการพัฒนาทักษะของทีมงาน ขณะเดียวกันยังใช้ขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจและผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก

โดยในปี 2570 ผู้บริหารไอที (CIOs) 25% จะริเริ่มการเชื่อมโยงพนักงานให้ทำงานร่วมกันมากขึ้น (Augmented-Connected Workforce) เพื่อลดเวลาการทำงานลง 50%

6.Continuous Threat Exposure Management 

การจัดการความเสี่ยงต่อภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง (Continuous Threat Exposure Management หรือ CTEM) เป็นแนวทางเชิงปฏิบัติและเป็นระบบที่ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความเสี่ยง และการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์ที่จับต้องได้ขององค์กรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นช่องโหว่และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้

และภายในปี 2569 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรที่จัดลำดับความสำคัญการลงทุนด้านความปลอดภัยตามโปรแกรม CTEM จะพบว่ามีการละเมิดลดลงถึง 2 ใน 3

7.Machine Customers

Machine Customers หรือที่เรียกว่า ‘คัสโตบอท’ จะเป็นผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจในแบบที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยมีความสามารถในการเจรจา ซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งภายในปี 2571 จะมีแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อถึงกันกว่า 1.5 หมื่นล้านชิ้น และภายในปี 2573 จะสามารถสร้างรายได้หลายล้านดอลลาร์ 

และมีความสำคัญมากกว่าตอนเกิด Digital Commerce ในที่สุด ทั้งนี้ผู้บริหารควรพิจารณากลยุทธ์รวมถึงโอกาสในการอำนวยความสะดวกให้กับอัลกอริธึมและอุปกรณ์เหล่านี้ ตลอดจนพิจารณาถึงการสร้างคัสโตบอทใหม่ ๆ

8.Sustainable Technology

เทคโนโลยีที่ยั่งยืนเป็นกรอบการทำงานของโซลูชันดิจิทัลที่ใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งการใช้เทคโนโลยีอย่าง AI, Cryptocurrency, Internet of Things และ Cloud Computing กำลังผลักดันให้เกิดข้อถกเถียงด้านการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าการใช้ไอทีจะมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียน และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2570 ผู้บริหารระดับ CIO 25% จะเห็นการเชื่อมโยงของค่าตอบแทนส่วนบุคคลกับผลกระทบทางเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

9.Platform Engineering

วิศวกรรมแพลตฟอร์มเป็นหลักการสร้างและดำเนินการแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาภายในด้วยตนเอง โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ผ่านการเชื่อมต่อเครื่องมือและกระบวนการต่างๆ ซึ่งเป้าหมายของ Platform Engineering คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้ และเร่งการส่งมอบมูลค่าทางธุรกิจ

10.Industry Cloud Platforms

ภายในปี 2570 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรมากกว่า 70% จะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์อุตสาหกรรม (ICP) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีอัตราการใช้น้อยกว่า 15% โดย ICP จะรวมบริการ SaaS, PaaS และ IaaS พื้นฐานเข้าด้วยกัน นำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกันได้

แหล่งที่มา: www.thairath.co.th

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *