• 27 July 2024

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ อ้างอิงข้อมูลจากวารสารการแพทย์ต่างประเทศ BMJ เตือนภัยที่เกิดขึ้นจากการกลั้นจาม

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ชายหนึ่งกำลังขับรถและเขาก็รู้สึกอยากจาม แต่แทนที่จะปล่อยให้เป็นการจามแบบธรรมชาติ แต่เขากลับกลั้นจามโดยการบีบจมูกและปิดปาก

การกลั้นจาม ด้วยการบีบจมูกและปิดปาก จะทำให้ความดันในทางเดินหายใจส่วนบนสูงขึ้นกว่า 20 เท่าของความดันที่ปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการจาม ในกรณีของชายคนนี้ ความกดดันสูงมากจนทำให้หลอดลมของเขาฉีกขาด

ชายคนดังกล่าวได้เดินทางไปยังห้องฉุกเฉิน เขารู้สึกเจ็บบริเวณลำคออย่างรุนแรง คอของเขาบวมทั้งสองข้าง อย่างไรก็ตาม เขาไม่มีปัญหาใด ๆ ในการหายใจ การกลืน หรือการพูด

จากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) พบหลอดลมฉีกขาด ขนาด 2×2 มิลลิเมตร

แพทย์สรุปว่าการฉีกขาดเกิดจาก “แรงดันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลอดลมขณะจามโดยบีบจมูกและปิดปาก”

แพทย์วินิจฉัยว่าชายคนนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เขาถูกเฝ้าติดตามอาการที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับออกซิเจนและสัญญาณชีพอื่น ๆ ของเขาคงที่ จากนั้นเขาก็ออกจากโรงพยาบาล พร้อมรับยาแก้ปวดและยาแก้ไข้ แพทย์ยังบอกเขาด้วยว่าอย่าออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมากเป็นเวลา 2 สัปดาห์

5 สัปดาห์ต่อมาผล CT scan เผยให้เห็นว่าบาดแผลของเขาหายดีแล้ว

หลอดลมฉีกขาดหากมีขนาดใหญ่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตามเกือบทั้งหมดเกิดจากการบาดเจ็บที่มาจากแรงกระทำภายนอก

คำแนะนำ “ไม่ควรกลั้นจามโดยการบีบจมูกขณะปิดปาก เพราะอาจส่งผลให้หลอดลมทะลุได้”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *