• 12 September 2024

รู้จัก “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” ที่ส่งผลให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กระทบในวงกว้าง ทั้งสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ วิกฤติน้ำแล้ง ความมั่นคงทางอาหาร รวมไปถึงสุขภาพ

เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “ภาวะโลกร้อน” หรืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก (Green house effect) แต่ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตอร์เรสเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาประกาศว่า  

“ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุคภาวะโลกเดือด”​ 

แล้ว “ภาวะโลกเดือด” ที่ UN และนักวิชาการทั่วโลกออกมาเตือนคืออะไร ไปทำความรู้จักภาวะโลกเดือด สัญญาณภัยพิบัติอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก และการรับมือที่ทุกคนก็สามารถช่วยได้

ภาวะโลกเดือด คืออะไร?​

ภาวะโลกเดือด คือภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง หรือมนุษย์กำลังเข้าสู่ช่วงของยุคที่ร้อนขึ้นจนเป็นสถิติและจะเกิดบ่อยขึ้น ซึ่งแปลว่าโลกกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเดือนกรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ “ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์” ในรอบ 120,000 ปี ขณะที่องค์กร NASA ที่ติดตามตรวจวัดอุณหภูมิจากสถานีตรวจอากาศนับหมื่นแห่ง ก็พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2566 ถือเป็นเดือนที่ “ซีกโลกเหนือ” ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี และน้ำแข็งก็จะละลายไวขึ้น 6 – 7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน 

ภาวะโลกเดือดสะท้อนผ่านความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ไล่ตั้งแต่เรื่องความผันผวนทางสภาพอากาศ ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม น้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้งจากเอลนิโญ ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่นำไปสู่ปัญหาไฟป่า และการเสียชีวิตของผู้คนหลายร้อยคนทั่วโลกจากโรคฮีทสโตรก

สำหรับประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลก็พบว่าในปี 2565 มีแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส โดยเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดตากมีอุณหภูมิสูงถึง 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่อันตรายมาก และคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง 

สาเหตุของโลกเดือด

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงประเด็น “จากรหัสแดงโลกร้อนสู่โลกเดือดอนาคตที่เราต้องเลือก” ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ปี 2565 มีอุณหภูมิสูงกว่าอดีต 1,000 – 10,000 ปี มาจาก 4 ปัจจัยหลัก ดังต่อไป

  1. การกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส
  2. ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.2 – 0.3 องศาเซลเซียส
  3. ช่วงเวลาการปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.05 องศาเซลเซียส
  4. การระเบิดของภูเขาไฟ Tonga-Hunga ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.035 องศาเซลเซียส

การกระทำของมนุษย์อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานจากฟอสซิล อุตสาหกรรม โรงงานขนาดใหญ่ต่าง ๆ การตัดไม้ทำลายป่า การทำปศุสัตว์ การขนส่ง การคมนาคม และอีกมากมายหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ 

ทางรอดภาวะโลกเดือด

ภาวะโลกเดือดย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางรับมือหรือแก้ปัญหา แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมมีส่วนสำคัญในการจัดการและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งในแต่ละประเทศก็ได้ออกกฎหมายและข้อตกลงมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ก็มีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ปัญหานี้ 

ในขณะที่รัฐบาลต้องยกให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญ ประชาชนทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือดได้เช่นกัน เริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และตระหนักรู้ถึงปัญหาทางธรรมชาติ ที่ไม่เริ่มต้นแก้ไขตั้งแต่วันนี้ เราอาจจะไม่มีโลกใบนี้ให้ลูกหลานในอนาคตได้อยู่กันอีกต่อไป

ที่มา: sanook.com

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *