• 27 July 2024

Content Delivery Network เซิร์ฟเวอร์ที่คนไม่รู้ว่ามีแต่ช่วยโลกใบนี้ไว้

เมื่อพูดถึงการใช้งานเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต เช่น การรับชมวิดีโอ การส่งข้อความ หรือการอัปโหลดไฟล์ขึ้นบนบริการเก็บข้อมูลต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ที่เรียกว่าเป็น “เซิร์ฟเวอร์” คอยจัดการกับไฟล์ต่าง ๆ หรือมีการประมวลผล

หากคิดตามหลักการนี้แล้ว เราอาจมองเห็นตัวอุปกรณ์สำคัญ 2 อุปกรณ์ด้วยกัน ได้แก่ คอมพิวเตอร์ของเราและคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ที่ให้บริการนั้น ๆ โดยมีตัวกลางคืออินเทอร์เน็ตนั่นเอง ดังนั้นระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ทั้งสองก็อาจจะส่งผลต่อความเร็วในการรับและส่งข้อมูล เช่น ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา

อีกข้อจำกัดหนึ่งคือ คอมพิวเตอร์ของเซิร์ฟเวอร์จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอุปกรณ์ต่าง ๆ จากทั่วโลก และส่งไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ไปยังอุปกรณ์นั้น ๆ ทุกครั้งที่มีการเรียกขอ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต

แล้ว CDN (Content Delivery Network) เข้ามามีส่วนในการช่วยโลกไว้ได้อย่างไร?

CDN (Content Delivery Network) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่เราอาจมองไม่เห็นหรือไม่ทราบว่ามีอยู่ แต่กลับมีความสำคัญมากในโลกปัจจุบัน หน้าที่ของ CDN คือการเป็นตัวกลางระหว่างคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต กับอุปกรณ์ของผู้ใช้งานทั่วไป

โดยเครือข่าย CDN เหล่านี้แฝงตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำหน้าที่คอยจัดเก็บไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ตัวอักษร ภาพ วิดีโอ ที่ได้รับมาจากคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ ก่อนจะแจกจ่ายไปยังอุปกรณ์ปลายทาง เสมือนเป็นตัวกลางโดยที่ CDN ไม่จำเป็นต้องมีการเรียกร้องขอข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์จากผู้ให้บริการทุกครั้งที่ผู้ใช้งานร้องขอข้อมูล เป็นการลดความจำเป็นในการตอบสนองของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ

จากหลักการที่ CDN มีการกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ทำให้ผู้ใช้งานในแต่ละภูมิภาค จะได้รับข้อมูลจาก CDN ที่อยู่ใกล้ตัวเองมากที่สุดด้วย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้ใช้งาน ที่ได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้ให้บริการเว็บไซต์เองก็ประหยัดค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากการที่ไม่ต้องส่งข้อมูลใหม่ ๆ ไปให้กับทุกอุปกรณ์ที่ร้องขอ

อย่างที่รู้กันดีว่าอินเทอร์เน็ตมิใช่ของฟรี CDN เองก็เช่นกัน จะมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้บริการ CDN เพราะผู้ให้บริการ CDN ก็ต้องมีต้นทุนด้านการบริหารจัดการอัตราการรับส่งข้อมูล และยังมีต้นทุนในการวางระบบดังกล่าวไว้ในแต่ละภูมิภาค แต่ธุรกิจในลักษณะนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างมากจากความต้องการใช้งานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นในปัจจุบัน

ตัวอย่างของผู้ให้บริการ CDN ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น บริษัท Cloudflare บริษัท Akamai บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มี Cloud เป็นของตัวเองก็นำมาให้บริการ CDN เช่นกัน อาทิ Amazon Cloudfront เป็นต้น หรือแม้แต่ผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็สร้าง CDN ขึ้นมาใช้เอง เพื่อบริหารจัดการการรับส่งข้อมูลให้สมเหตุสมผลมากขึ้น เช่น Facebook สังเกตุได้ง่าย ๆ คือถ้าเราคลิกขวาที่ภาพใน Facebook ใด ๆ เมื่อดูที่มาของภาพนั้น บน URL จะแสดงให้เห็นว่าถูกส่งมาจาก FBCDN ซึ่งก็คือ ระบบ CDN ของ Facebook นั่นเอง

CDN จึงเปรียบเสมือนกับเซิร์ฟเวอร์ที่มองไม่เห็น ทำงานอยู่เบื้องหลังและเราอาจไม่รู้ว่ามีตัวตนอยู่ แต่ช่วยโลกใบนี้ให้เกิดสมดุลของอัตราการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่อย่างจำกัด แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ใช้งานปลายทางสามารถใช้งานบริการต่าง ๆ ได้ในราคาที่ถูกลงด้วย

ข้อมูลจาก Thai PBS

บทความโดย แอดมินแพท

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *