• 8 September 2024

“อนุดิษฐ์” ยกตัวอย่างคดี “ทักษิณ ชินวัตร” นิติธรรมบิดเบือน หนุนใช้กฎหมายนิรโทษกรรมแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สร้างความปรองดอง แต่ควรครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมด้วย

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมที่หลายพรรคพูดถึง และคาดว่าจะถูกหยิบยกมาพูดคุยในสมัยประชุมที่กำลังจะถึงนี้ ว่า การเข้าไปรับโทษตามคำพิพากษาในเรือนจำ เป็นกระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดตามหลักการสากล แต่กรณีนี้คงต้องยกเว้นผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะนักโทษการเมือง 

ทั้งนี้ การแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีนโยบายที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง อันเป็นการยอมรับว่าที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง และมิได้ปกครองด้วยหลักนิติธรรม แต่หลักการนี้กลับถูกบิดเบือนจากฝ่ายที่มีอำนาจในอดีต เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลือกคู่ขัดแย้งของผู้ถูกกล่าวหามาเป็นคณะทำงาน มีเจตนาเพื่อจัดการกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะโดยเฉพาะ 

ล่าสุดคือการแก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้นักโทษอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย โดยมีเจตนาเพียงเพื่อไม่ให้ นายทักษิณ กลับเข้ามาในประเทศ หรือหากจะกลับก็ต้องยอมรับโทษตามคำพิพากษา จึงเชื่อได้ว่าการกลับมาของ นายทักษิณ เป็นการจำยอมถูกลงโทษเพื่อจะได้กลับเข้ามาอยู่กับครอบครัว มากกว่าเต็มใจยอมรับการลงโทษโดยดุษณี

น.อ.อนุดิษฐ์ เผยต่อไปว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดของหลายพรรคการเมืองที่จะใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดองให้กับสังคมไทย แต่เห็นเพิ่มเติมว่า การนิรโทษกรรมควรครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทางกฎหมายที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมด้วย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายที่ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมอาญา พร้อมทั้งคืนความถูกต้องชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย (Rule by Law) แต่ไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งขัดกับหลักการอำนวยความยุติธรรมสากลที่ทั่วโลกเขาใช้กัน.

ที่มา thairath.co.th

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *