เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

บางครั้งผู้ประกอบธุรกิจเข้าใจผิดว่า Law Enforcement หมายถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เช่นนั้นเสมอไป การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเพื่อส่งเสริมความเสรีและความเป็นธรรมสามารถมีมิติอื่นๆ อีกด้วย

กล่าวคือ การสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมทางการค้าที่อาจลดหรือทำลายการแข่งขันได้

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ระบุว่าเจตนารมณ์ในการตราและบังคับใช้มีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแข่งขันที่เป็นธรรมและเสรี และปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้ดีขึ้น

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และปรับปรุงมาตรการในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ยังกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมตามมาตรา 17 (3)

มาตรา 17 (4) กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาเรื่องร้องเรียนและสอบสวนการกระทำความผิด ในขณะเดียวกัน มาตรา 29 (2) กำหนดหน้าที่ของสำนักงานการค้าไว้ว่า ต้องติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการฝ่าฝืนและรายงานต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และ (3) ให้ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับสินค้า การบริการและพฤติกรรมในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้คำแนะนำและความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์และอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันฯ ของ กขค.และของสำนักงาน กขค. โดยเชื่อมโยงกันแล้ว จะพบว่า แนวทางการติดตามพฤติกรรมเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้ “เป็นธรรม” และ “มีประสิทธิภาพ” นั้น สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

1. Pro-active Service (Ex-ante) : การป้องกันหรือป้องปราม

ได้แก่ กระบวนการก่อนเป็นเรื่องร้องเรียน (Pre-Case) ซึ่ง กขค.อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 (3) และสำนักงาน กขค.อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 (2) และ (3) โดยสำนักงาน กขค.จะติดตามพฤติกรรม วิเคราะห์ เสนอแนะแนวทางแล้วรายงานให้ กขค.ทราบ ซึ่ง กขค.ก็จะติดตามพฤติกรรมและกำหนดแนวทางปฏิบัติ (Guideline) เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม

จะเห็นได้ว่ากระบวนการกำกับดูแลก่อนเป็นเรื่องร้องเรียน (Pre-Case) ในรูปแบบ Pro-active Service นี้ มิใช่กระบวนการและวิธีการในลักษณะไกล่เกลี่ย หรือระงับข้อพิพาท และในบางครั้งการทำงานเชิงป้องปรามอาจจำต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงาน กขค.และผู้ประกอบธุรกิจ

เพื่อระงับ ยับยั้ง ความเสียหาย ป้องกันการดำเนินคดีระหว่างกัน เพราะแน่นอนที่สุด เมื่อเกิดเป็นคดีความแล้วย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่สามารถถูกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินกิจการหรือธุรกิจของตน กลับต้องเสียไป

2. Re-active Service (Ex-post) : การกำกับดูแล

ประกอบด้วย กระบวนการรับและประเมินผลเรื่องร้องเรียน โดย กขค.อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 (4) ประกอบระเบียบ กขค. ว่าด้วยการร้องเรียนและการแสวงหาข้อเท็จจริง และการดำเนินคดีทางอาญา หรือคดีทางปกครอง พ.ศ.2562 ข้อ 8

ที่ระบุว่า ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า หรือผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าวอาจร้องเรียนต่อสำนักงาน กขค.ด้วยวิธีการต่างๆ (กรณีมีข้อร้องเรียน) และ ข้อ 11ในกรณีที่ความปรากฏแก่ กขค.ว่ามี หรือจะมีการกระทำอันเป็นความผิด กขค.มีอำนาจจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวและให้ถือว่าเป็นเรื่องร้องเรียนตามข้อ 8 โดยส่งให้สำนักงาน กขค.ดำเนินการตามระเบียบ

หากมีผู้กระทำความผิด ผู้นั้นย่อมต้องถูกลงโทษ หรือหากเป็นกรณีที่ กขค.พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นความผิด ก็จะนำไปสู่การพิจารณาให้ยุติเรื่อง

กล่าวได้ว่า รูปแบบการดำเนินงานที่กล่าวไว้ข้างต้น อาจถือเป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ของการดำเนินงานของสำนักงาน กขค. เพื่อสะท้อนถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

ที่มา : เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล (bangkokbiznews.com)

Admin : ทรรศน์

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *