Atome เผย ความนิยมในการช้อปสินค้าไลฟ์สไตล์ผ่านบริการ Buy Now, Pay Later ทะลุ 1.5พันล้านในหนึ่งปี โตแรงในกลุ่มGen Z- Millennial เล็งขยายพาร์ทเนอร์สู่กลุ่มแบงก์-อีคอมเมิร์ซ ดันผู้ใช้งานโต 2-3 เท่า 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย ผู้ให้บริการเปย์เมนต์เกตเวย์ Buy Now, Pay Later และแอปพลิเคชั่นช้อปปิ้ง Atome เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมามีการซื้อขายและใช้บริการบนแอปของ Atome มูลค่ารวมกว่า 1.5พันล้านบาท จากการเปิดดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมา 1ปีกับอีกหนึ่งไตรมาส มียอดผู้ใช้ 750,000 ยูสเซอร์ค่าเฉลี่ยของการซื้อสินค้าด้วยบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” หรือ Buy Now, Pay Later อยู่ที่ 2,500 บาทต่อบิล โดย Atome ได้สร้างโซลูชันให้ผู้ใช้สามารถผ่อนชำระสินค้าได้ 3 เดือน

สินค้าส่วนใหญ่ที่วางแอปพลิเคชัน Atome เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เชื่อมต่อกับเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นๆ ปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กว่า 1,200 แบรนด์ เช่น Adidas, Agoda, Charles & Keith, Central Marketing Group อย่างเช่นแบรนด์ MLB และ The Body Shop, Converse, EVEANDBOY, H&M, KONVY, Pandora, SHEIN, Sephora และ Watsons

นายภูมิพงษ์ กล่าวอีกด้วยว่า กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่คือ กลุ่ม First Jobber หรือกลุ่มคน Generation Z และ Millennial หรือผู้ที่มีอายุราว 20-35 ปี สัดส่วนเป็นผู้หญิงมากกว่า 60% นอกจากนี้ฝั่งพาร์ทเนอร์หรือแบรนด์ก็ต้องการที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าในวัยนี้ เพื่อสร้าง Brand loyalty เพราะหากพวกเขาชื่นชอบ พวกเขาจะมีเวลาอีกมาก และเลือกที่จะซื้อของจากแบรนด์ที่ชอบไปอีกนับ 10 ปี

“นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่เห็นชัดตั้งแต่หลังโควิดก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าถึงการเงินแบบเก่าหรือบัตรเครดิตได้ยากกว่าเพราะการขอสินเชื่อเช่นนี้ต้องใช้เอกสารทางการเงินจากการทำงานแบบเดิมๆ จึงสนใจบริการ Buy Now, Pay Later มากขึ้น”

“แนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะตลาด Buy Now, Pay Later จะโตถึง 1.6หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับใช้งานระบบจ่ายเงินแบบดิจิทัลหรือฟินเทค ประเทศไทยถือว่ามีอัตราการปรับใช้ฟินเทคในอันดับ 3 ของโลก

นายภูมิพงษ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ปีนี้ Atome ประเทศไทย จะโฟกัส 4 จุดเพื่ออัพสปีดธุรกิจ

ประการแรก คือการ เพิ่มยอดผู้ใช้งาน และ พาร์ทเนอร์ ให้เติบโต 2-3 เท่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อยู่ 7.5แสนราย คิดเป็นแค่ 1% ของประชากรในประเทศเท่านั้น Atome ในบางประเทศมีผู้ใช้งานกว่า 20% ของประชากร จึงยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ประการที่สอง คือการโฟกัสการขยายพาร์ตเนอร์เข้าไปยังระบบนิเวศอีคอมเมิร์ช บนแพลตฟอร์มยักษ์ต่างๆ อีกส่วนคือพาร์ตเนอร์ที่เป็น “ธนาคาร” โดยเฉพาะธนาคารในประเทศ เนื่องจากธนาคารยังถือว่าเป็นผู้ที่มีต้นทุนการเงินที่ดีกว่า ในขณะที่ Atome มีต้นทุนการบริหารจัดการจากเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัทแม่ที่ดีกว่า คุ้มค่ากว่า ดังนั้นหากนำจุดแข็งมาผสมกันจะทำให้ได้ต้นทุนการเงินที่ต่ำลง

ประการที่สาม การเติบโตอย่างยั่งยืน จากฐานผู้ใช้งาน 7.5แสนคนตอนนี้ ทำให้เกิดข้อมูลมหาศาล และเมื่อนำข้อมูลที่มีมารวมกับของพาร์ทเนอร์หรือ Third Party จะทำให้การวิเคราะห์สินเชื่อทำได้ดียิ่งขึ้น

ประการที่สี่ ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดขึ้น

ทั้งนี้ นายภูมิพงษ์ ยังกล่าวถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดได้ เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนว่ามีอุปสรรคและปัญหาอยู่ 2 ประการ

1.ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น

ผลพวงจากวิกฤตการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อสู้เงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องมีการปรับดอกเบี้ยตาม เพื่อป้องกันค่าเงินพังทลาย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดอกเบี้ยจะขึ้น

“เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ทำให้ต้นทุนการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น เราจะไปชาร์จค่าใช้จ่ายเพิ่มจากพาร์ทเนอร์ตามนั้น มันทำได้ยาก”

2.ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจส่งผลกับสินค้าไลฟ์สไตล์

“แม้โดยส่วนตัวผลจะคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเนื่องจากปัจจัยบวกของการเปิดเมือง และความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร ค่าเงิน และสินทรัพย์สำรองที่ได้บทเรียนมาจากปี 2540 แต่กระนั้นมันก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้จากสถานการณ์โลก และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจส่งผลต่อสินค้าไลฟ์สไตล์ซึ่งเป็นสินค้าหลักบนแอปพลิเคชันของเรา”

ที่มา positioningmag 

Admin loukmon 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *