• 14 September 2024

เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความสะดวกสบายของการซื้อสินค้าออนไลน์ และสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคนต่างลดการออกจากบ้าน เพราะเชื้อโรคมากมาย และลดการจับจ่ายใช้สอยที่ต้องเจอหน้าสัมผัสกัน ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ของไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก

ซึ่งนาทีนี้คงแทบไม่มีใครไม่รู้จัก แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Shopee และ Lazada ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นประจำที่ในแต่ละเดือน 2 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้จะมีการจัดโปรโมชัน โดยใช้วันที่กับเดือนเป็นวันเดียวกัน จัดโปรโมชันมอบส่วนลดเพื่อเป็นการเอาใจลูกค้า นั่นจึงเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ ที่ทำให้ใครหลายคนอาจกำลังอยู่ในภาวะเสพติดการช้อปปิ้งออนไลน์

สาเหตุที่ทำให้คนเราชอบการช้อปปิ้งออนไลน์

จากงานวิจัยพบว่า ในขณะที่มีการซื้อของ ผู้ที่ได้สิ่งที่ตนเองชอบจะเกิดความรู้สึกดีจากการได้รับรู้ความเป็นเจ้าของ ในขณะนั้นสมองจะมีการหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ เอนโดรฟิน (endorphins) และโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข พบว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนทั่วไป จะมีความต้องการอย่างมากที่จะรู้สึกมีความสุขแบบนั้นอีก ทำให้เกิดพฤติกรรมโหยหาความสุข (craving) และหยุดยั้งตนเองได้ยากเมื่อมีโอกาสได้ช้อปปิ้งอีกครั้ง

นั่นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่พบว่า เมื่อคนเราเกิดความเครียด ความเหงา ความทุกข์ สารแห่งความสุขในสมองมีน้อยลง บางคนจะพบว่าตนเองอยากจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น“Shopaholic” โรคทางจิตเสพติดการช้อปปิ้ง

เป็นโรคที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้งจนทำให้เกิดปัญหาตามมา ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความต้องการหรืออยากซื้อของตลอดเวลา มีความรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว

เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจับจ่ายเกินความจำเป็น หลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีของเดิม ๆ เต็มไปหมด รวมถึงมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เวลาซื้อของเหล่านั้น เป็นต้น

อาการของ Shopaholic

  • เสพติดการช้อปปิ้งอย่างหนัก โดยต้องซื้อของเป็นประจำทุกวันหรือทุกสัปดาห์
  • ช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด
  • ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใบใหม่ แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า
  • ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม หรือมีความสุขอย่างมากหลังได้ช้อปปิ้ง
  • ซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้
  • โกหกหรือลักขโมยเพื่อให้ได้ช้อปปิ้งต่อ
  • รู้สึกผิดหรือเสียใจหลังได้ช้อปปิ้ง แต่ก็ยังจะทำต่อไป
  • ไม่สามารถจัดการการเงินของตนเอง หรือไม่สามารถชำระหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้
  • ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตนเองได้

วิธีที่จะช่วยให้คุณช้อปปิ้งออนไลน์น้อยลง

1. ยกเลิกการสมัครรับโปรโมชันผ่านทางอีเมล

เมื่อคุณได้รับอีเมลเกี่ยวกับโปรโมชันสินค้า โปรดอย่าคลิกแสดงภาพ และอย่าทำเครื่องหมายว่าอีเมลเหล่านี้เป็น “สแปม” หรือกดทิ้ง “ถังขยะ” เพราะจะไม่สามารถหยุดการรับอีเมลเหล่านี้ได้ แต่คุณต้องไปที่ลิงก์ยกเลิกการสมัครภายในข้อความแทน

2. บล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์โปรดของคุณ

คุณสามารถจำกัดคอมพิวเตอร์ของคุณไม่ให้เข้าถึงบางเว็บไซต์ได้ โดยการปิดกั้นใน Browser ที่คุณต้องการ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณล้างคุกกี้และแคชเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการกำหนดเป้าหมายโฆษณาใหม่ ซึ่งผู้ค้าปลีกมักจะติดตามพฤติกรรมออนไลน์ของคุณจากเว็บไซต์และคำที่ค้นหาบ่อย ๆ

3. ลบแอปช้อปปิ้งออกจากมือถือ

แอปฯ ช้อปปิ้งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้เสพติดเท่านั้น เพราะแอปฯ ช้อปปิ้งทำให้การใช้จ่ายเงินออนไลน์สะดวกเกินไป และมีโอกาสน้อยที่จะไตร่ตรองการซื้อ กลายเป็นว่าจุดกระตุ้นให้เกิดการเสพติดนั้นอยู่แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส ทางที่ดีคือลบแอปฯ ช้อปปิ้งทั้งหมดออกจากมือถือของคุณซะ!

แหล่งที่มา:sanook

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *