• 14 September 2024
“NEOWISE” กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฝ้าระวังเทหวัตถุหนึ่งเดียว กับการปลดระวางของ NASA

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE กล้องฯ ในย่านแสงอินฟราเรด กับการทำงานตลอด 13 ปี มันสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่นักดาราศาสตร์อย่างมากมาย เราจะมองย้อนดูภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE ที่ถูกขยายภารกิจสู่ NEOWISE ที่ใกล้หมดเวลาของการปฏิบัติภารกิจ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE กล้องฯ ในย่านแสงอินฟราเรด กับการทำงานตลอด 13 ปีของภารกิจส่องมองดวงดาวจนถึงการส่องมองดาวเคราะห์น้อยเพื่อเฝ้าระวังภัย ตลอด 13 ปีของกล้องฯ ตัวนี้ มันสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่นักดาราศาสตร์อย่างมากมาย เราจะมองย้อนดูภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE ที่ถูกขยายภารกิจสู่ NEOWISE ที่ใกล้หมดเวลาของการปฏิบัติภารกิจ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดภาพถ่ายมุมกว้าง

แรกเริ่มกล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE ถูกออกแบบให้ทำงานแค่ระยะสั้นคือแค่ 10 เดือน มันถูกออกแบบให้เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่บันทึกภาพแสงในย่านอินฟราเรดที่ออกแบบให้ถ่ายภาพในมุมกว้าง ซึ่งทำให้เราเห็นภาพของเอกภพอันกว้างใหญ่ได้ในภาพเดียว จึงเป็นกล้องที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพวิวัฒนาการของเอกภพหรือโครงสร้างของกาแล็กซีของเรา

ด้วยการที่จำเป็นต้องถ่ายภาพมุมกว้าง ตัวกล้องจึงได้รับการออกแบบให้มีระบบทำความเย็นด้วยก๊าซฮีเลียม ซึ่งสามารถสร้างความเย็นจัดในระดับใกล้เคียงกับศูนย์องศาสัมบูรณ์ได้ ทำให้สามารถถ่ายภาพและเก็บรายละเอียดของภาพของอุณหภูมิที่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของจุดต่าง ๆ ในเอกภพได้ เป้าหมายหลักของกล้องฯ WISE คือการถ่ายภาพมุมกว้างของเอกภพที่เรามองเห็นได้ที่ 99% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ต้องแลกมากับความสามารถในการสร้างความเย็นที่ไม่สามารถคงเอาไว้ได้นาน สารทำความเย็นจะค่อย ๆ ลดลงจนกระทั่งถึงจุดที่ไม่สามารถสร้างความเย็นได้เพียงพอ ความสามารถของกล้องฯ WISE ในการถ่ายภาพเพื่อศึกษาเอกภพวิทยาจึงถึงคราวสิ้นสุด

กล้องโทรทรรศน์อวกาศตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลก

แต่ถึงกระนั้นกล้องฯ WISE ที่เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศย่านอินฟราเรดที่อยู่ในวงโคจรของโลกยังคงสามารถทำงานต่อได้อีก เพียงแค่ไม่สามารถทำงานภายใต้ภารกิจหลักคือการถ่ายภาพเอกภพตามที่ได้รับการออกแบบได้อีกต่อไป NASA ได้ปรับแผนการทำงานของกล้องฯ WISE สู่ภารกิจใหม่คือ NEOWISE เพื่อใช้เป็นกล้องตรวจจับและตามหาเทหวัตถุใกล้โลก

เพราะวัตถุทุกอย่างในเอกภพนั้นสามารถเปล่งแสงออกมาในย่านอินฟราเรดได้ กล้องฯ NEOWISE ที่เป็นกล้องตรวจจับอินฟราเรดความละเอียดสูงมุมกว้างจึงเป็นกล้องที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพ เพื่อทำการตามหาเทหวัตถุและทำการติดตามเทหวัตถุใกล้โลกเหล่านั้น

ตลอดภารกิจสานต่อของ NEOWISE นั้น มันตรวจจับเทหวัตถุไปได้มากกว่า 44,000 ดวง นับเป็นเทหวัตถุใกล้โลกมากกว่า 3,000 ดวง และในกว่า 3,000 ดวงนั้น พบว่าเป็นเทหวัตถุใหม่ใกล้โลกที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน 215 ดวง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE ที่ยังคงสามารถทำงานได้ดีอยู่

ดาวหาง NEOWISE 2020

ในช่วงปี 2020 หนึ่งในเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดคือการมาของดาวหาง NEOWISE ดาวหางดวงนี้ถูกสังเกตพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 ซึ่งเป็นดาวหางคาบยาวที่เคลื่อนที่จากเมฆออร์ตเข้ามาภายในระบบสุริยะชั้นใน กลายเป็นดาวหางที่สวยงาม ก่อนที่จะจากลาเราตลอดกาลตามรูปแบบของดาวหางคาบยาวของระบบสุริยะของเรา ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE ที่สามารถตรวจจับดาวหาง NEOWISE ได้ตั้งแต่มันยังคงอยู่ในระยะห่างเทียบเท่ากับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี

การสิ้นสุดของภารกิจ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่อยู่ในวงโคจรของโลก ภายหลังจากการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาร่วม 13 ปีมานี้ มันใช้เชื้อเพลิงไปเป็นปริมาณมาก และมีแนวโน้มว่ามันจะถูกชั้นบรรยากาศของโลกชะลอความเร็วลงเรื่อย ๆ จนตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกและเผาไหม้ในที่สุด NASA ได้วางแผนปลดระวางกล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE ไว้ในช่วงปี 2025 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มันน่าจะถูกดึงเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก

ในอนาคต NASA ได้วางแผนที่จะสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดที่มีมุมมองภาพกว้างตาม WISE ขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า NEO Surveyor (Near-Earth Object Surveyor) กล้องตัวนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกเพื่อเป็นการแจ้งเตือนอันตรายจากเทหวัตถุใกล้โลกโดยเฉพาะ และมีกำหนดการส่งขึ้นอวกาศในช่วงปี 2027

แหล่งที่มา : www.thaipbs.or.th

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *