• 26 July 2024

ยีนbisexual คือหน่วยพันธุกรรมหรือยีนในบางรูปแบบซึ่งยีนชนิดนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมไบเช็กชวล (bisexual) เป็นครั้งแรกของโลก โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน

ยีนชนิดนี้สามารถมีอิทธิพลบางส่วนในการทำให้ผู้คนที่มีแนวโน้มจะหลงรักได้ทั้งเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน แม้จะไม่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตามและนอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าหากชายแท้ที่รักแต่ผู้หญิงมียีนไบเซ็กชวลดังกล่าวแอบแฝงอยู่ในตัว เขาคนนั้นมีแนวโน้มจะโดดเด่นในเรื่องของการสืบเผ่าพันธุ์จะมีโอกาส “ลูกดก” ผลิตทายาทได้หลายคน ยิ่งกว่าผู้ชายแท้ที่ไม่มียีนนี้หลายเท่า

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าปรากฏการณ์ประหลาดทางพันธุศาสตร์ดังกล่าว อาจให้คำอธิบายที่ค้นหากันมานานในเรื่องที่ว่า เหตุใดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) จึงไม่ขจัดยีนที่ทำให้คนรักเพศเดียวกันออกไป แม้จะเป็นพฤติกรรมที่ทำให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยากขึ้นก็ตาม

ศาสตราจารย์จาง “จอร์จ” เจี้ยนจี ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯได้วิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของชาวยุโรปกว่า 450,000 คน ที่รวบรวมไว้โดยฐานข้อมูล UK Biobank จนพบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมไบเซ็กชวล กับยีนที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันหรือโฮโมเซ็กชวลนั้น เป็นยีนคนละตัวกันโดยสิ้นเชิง

แม้ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์จะออกมาระบุว่า ไม่มีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนตัวใดที่เป็น “ยีนเกย์” ซึ่งสามารถจะกำหนดให้มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันได้โดยเฉพาะ แต่ก็ยอมรับว่ามีรูปแบบของยีนหรือ “อัลลีล” (Allele) บางตัว ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้บ้าง โดยทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนคาดว่า พฤติกรรมรักเพศเดียวกันนั้นมาจากพันธุกรรมเพียง 40% ในขณะที่มาจากปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ถึง 60%

นอกจากจะพบว่ายีนไบเซ็กชวลและยีนโฮโมเซ็กชวลเป็นคนละตัวกันแล้ว การศึกษาครั้งล่าสุดยังพบว่า ชายแท้ที่รักเพศตรงข้าม แต่มียีนในรูปแบบที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมไบเซ็กชวล (BSB – associated alleles) มีโอกาสที่จะดำรงเผ่าพันธุ์สูงกว่าเพื่อน โดยจะให้กำเนิดลูกเป็นจำนวนมากกว่าชายแท้ที่ไม่มียีนนี้หลายเท่า

ศ.จาง อธิบายว่า BSB – associated alleles ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของยีน มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมชอบเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย อันอาจส่งผลให้คนผู้นั้นชื่นชอบ “การผจญภัยทางเพศ” ไปด้วย โดยอาจมีคู่นอนหลายคนและมีสัมพันธ์รักแบบไม่ป้องกันหรือไม่คุมกำเนิดได้กับคนทุกเพศในทุกสถานการณ์

พฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลดีต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ และทำให้ยีนนี้สืบทอดมาสู่ลูกหลานในรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ถูกกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติขจัดทิ้งไปเสียก่อน ต่างจากยีนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันหรือโฮโมเซ็กชวล (eSSB) ซึ่งกำลังมีแนวโน้มที่จะเลือนหายไปจากเส้นทางวิวัฒนาการ เนื่องจากชายแท้ที่มียีนนี้แฝงอยู่กลับมีบุตรยากกว่า โดยมีบุตรน้อยคนหรือไม่มีเลย

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยย้ำว่าสัดส่วนของคนที่ตอบแบบสำรวจว่าตนเองเป็นไบเซ็กชวลหรือโฮโมเซ็กชวล มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เนื่องจากสังคมเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะมีคนที่มีพันธุกรรมแบบรักเพศเดียวกันเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

“เราอยากให้เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และความเข้าใจต่อเพศสภาวะของมนุษย์ที่ดียิ่งขึ้น เราไม่มีเจตนาให้นำความรู้นี้ไปใช้แบ่งแยกกีดกันเพื่อนมนุษย์ โดยอ้างสาเหตุที่มาจากพฤติกรรมทางเพศ” ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป

แหล่งที่มา:bbc

admin ปิงปอง

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *