• 27 July 2024

ความเสี่ยงของโลกในปี 2024 ระบุว่า จะเป็นปีที่มีความเสี่ยงสูงในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และที่น่าสนใจที่สุดคือ ปัญหาเทคโนโลยี AI

ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็ม

จากรายงาน World Economic Forum (WEF) ที่กล่าวถึงความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี และประเด็นที่น่าสนใจคือ การบิดเบือนข้อมูลด้วยเทคโนโลยีเอไอ (Misinformation and Disinformation)

WEF ระบุว่า เนื่องด้วยเอไอกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถสร้างข้อมูลปลอม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่าง Generative AI อย่าง ChatGPT สร้างเนื้อหา ‘สังเคราะห์’ ได้มากขึ้น ตั้งแต่การลอกเลียนเสียง สร้างวิดีโอปลอม ไปจนถึงเว็บไซต์ปลอม

เนื้อหาสังเคราะห์สามารถสร้างผลกระทบได้หลากหลายทั้งต่อบุคคล เศรษฐกิจ สังคม โดยสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ การทำ Deepfake สร้างวิดีโอปลอมแปลง จนไปถึงการโกงในตลาดหุ้น หรือแม้แต่การสร้างความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเอไอยังถูกนำมาใช้ในการบิดเบือนข้อมูลและการแบ่งแยกทางสังคมอีกด้วย โดยผู้คนจะได้รับข้อมูลข่าวสารในสิ่งที่ตนชื่นชอบตามการกำหนดของเอไอ สังคมก็จะยิ่งถูกแบ่งแยกจากความเชื่อข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเอง

การบิดเบือนข้อมูลด้วยเอไอ จึงเป็นปัญหาที่มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความเสถียรภาพต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นเรื่องที่เราควรตระหนักและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขณะนี้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กำลังเริ่มออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีเอไอ แต่ความเสี่ยงอีกเรื่องที่ Eurasia ระบุคือ เอไอที่ไม่ถูกควบคุม (Ungoverned AI)

ปัญหาของการไม่สามารถควบคุมดูแลเอไอ พบว่า ความพยายามด้านการพัฒนากฎหมายและการควบคุมยังไม่เพียงพอ และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่บางแห่งยังคงดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอให้เก่งยิ่งขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้เครื่องมือเอไอทรงพลังมากขึ้นและกำลังแพร่กระจายออกไปนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลในหลายประเทศ

แม้ในปีที่ผ่านมา เริ่มมีการออกมาตรฐานใหม่ ๆ และความร่วมมือในด้านเอไอระหว่างนานาประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาในด้านเอไอเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ความพยายามในการกำกับดูแลตามแทบไม่ทัน เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการเมือง: ความไม่ลงรอยกันในการกำหนดนโยบายของประเทศต่าง ๆ ทำให้ความพยายามในการกำกับดูแลเอไอมีขอบเขตที่จำกัดเฉพาะได้

ความล่าช้าของรัฐบาล: ความสนใจของรัฐบาลหลายประเทศในเรื่องการกำกับดูแลเอไอมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง หรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกมองว่าสำคัญกว่า

การแปรพักตร์: แม้จะมีการร่วมมือนานาชาติและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการกำกับดูแลเอไอ แต่เมื่อหลายฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองทั้งในเรื่องของศักยภาพทางแข่งขัน และเศรษฐกิจการค้า ก็อาจทำให้ถอนตัวออกจากข้อตกลง

ความเร็วของเทคโนโลยี: เอไอกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ความพยายามควบคุมด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะตามไม่ทันความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยี

สำหรับปี 2024 นี้ เอไอจึงถูกมองว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้ และควรให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องของการบิดเบือนข้อมูลด้วยเทคโนโลยีเอไอและเอไอที่ไม่ถูกควบคุม

ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

บทความโดย แอดมินแพท

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *