• 27 July 2024

เทคโนโลยีกับโลกปัจจุบันคงเป็นอะไรที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกแล้ว ในเมื่อมนุษย์ต่างมองหาความสะดวกสบายเพื่อเข้ามาช่วยส่งเสริมคุณภาพการใช้ชีวิตในประจำวัน ซึ่งเป็นเช่นนั้นมาตลอดนับตั้งแต่มนุษย์ยุคโบราณที่รู้จักการใช้ไฟ และการเพาะปลูก นำมาซึ่งการก้าวกระโดดของวิวัฒนาการผ่านการทำการเกษตรเพื่อดำรงชีพมากกว่าการพเนจรย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ

ในทางกลับกันพลังของนวัตกรรมเหล่านี้ ไม่เพียงแค่ปลดล็อกโอกาสทางวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ แต่จะปลดปล่อยความท้าทายมหาศาลเช่นเดียวกัน เทคโนโลยีอาจเป็นพลังให้กับผู้ประสงค์ร้าย ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังจะเผชิญในยุค “เอไอ”

เราจึงควรมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืน กฎหมายจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายควบคุมวัตถุอันตราย หรือกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาเป็นกรอบในการปรับใช้และกำหนดกฎเกณฑ์ที่สามารถพึงกระทำได้ โดยมีบทลงโทษระบุไว้อย่างชัดเจนหากใช้ฝ่าฝืนต่อวัตถุประสงค์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีการตอบสนองเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับเอไอ โดยในปี 2565 องค์กรนิติบัญญัติใน 127 ประเทศทั่วโลกได้อนุมัติกฎหมาย AI ไปแล้ว 37 ฉบับ โดยเฉพาะในประเทศฝั่งสหภาพยุโรป ผ่านการประชุมที่บรัสเซลส์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายกำกับดูแล AI ฉบับแรกของโลก The Artificial Intelligence Act (EU AI Act) และผ่านความเห็นชอบในเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา

เทคโนโลยี AI ภาพสต็อก

ทั้งนี้ เพื่อกำกับดูแลขอบเขตการใช้งานเอไอในบริษัทต่าง ๆ โดยจัดกลุ่มการใช้งานเอไอออกเป็น 4 ประเภทตามความเสี่ยง ตั้งแต่ความเสี่ยงระดับต่ำไปจนถึงความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตนำการใช้เอไอมาสร้างปัญหาและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพที่ปัจเจกชนพึงมีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ซึ่งข้อกำหนดของ AI Act จะพิจารณาจากความเสี่ยงและอิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ชนิดนั้นๆ ว่าจะมีอันตรายหรือสามารถส่งผลกระทบได้มากน้อยเพียงใด โดยข้อปฏิบัติและข้อกำหนดจะมีความเข้มงวดแตกต่างกันไปตามระดับความสามารถของเอไอแต่ละชนิด

สมาชิกของรัฐสภายุโรป (MEP) ได้กำหนดข้อห้าม 6 ประการ ที่ผู้ผลิตไม่สามารถนำเอไอไปใช้เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อ “สิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย” ของประชาชนในประเทศสมาชิก ประกอบด้วย

  1. จัดหมวดหมู่บุคคลตามคุณลักษณะทางกายภาพหรือพฤติกรรม
  2. การคัดลอกภาพใบหน้าเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางเทคโนโลยีจดจำใบหน้า
  3. ระบบจดจำความรู้สึก
  4. การให้คะแนนผ่านการเก็บข้อมูลทางพฤติกรรมบุคคล
  5. ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ โดยให้เอไอตัดสินใจว่าสิ่งใดที่ควรกระทำไม่ควรกระทำ
  6. การหาผลประโยชน์ผ่านเอไอโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม

สำหรับประเทศไทยมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดแนวทางการใช้เอไอที่ชัดเจนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน เห็นได้จากในปี 2565 รัฐบาลได้จัดการประชุมแผนปฏิบัติการด้านเอไอแห่งชาติฯ ครั้งแรก โดยกำหนดให้จัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และกำหนด “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทยปี 2565-2570” 

ด้วยการบูรณาการความคิดเห็นร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เพื่อจัดทำนโยบายและร่างกฎหมาย เพื่อเป็นมาตรฐาน AI ของประเทศไทย ณ ปัจจุบันได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติการใช้เอไอ

ที่มาข้อมูลและรูปภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ

เขียนโดย แอดมินแพท

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *